วัดโคกพระยากับธรรมเนียมการสำเร็จโทษ

วันที่ออกอากาศ: 27 เมษายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ตามโบราณราชประเพณีสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดโคกพระยา เป็นสถานที่สำหรับนำพระมหากษัตริย์ซึ่งถูกถอดออกจากราชสมบัติและเจ้านายในพระราชวงศ์ไปกระทำการสำเร็จโทษ โดยพระมหากษัตริย์ที่ถูกถอดราชสมบัติส่วนใหญ่เกิดจากเหตุรัฐประหารผลัดแผ่นดิน

 

หรือในกรณีของการสำเร็จโทษเจ้านายก็เนื่องจากทำผิดกฎมณเฑียรบาลหรือกฎหมายอาญาของบ้านเมือง ซึ่งหากต้องโทษประหารจะถูกนำไปสำเร็จโทษในบริเวณวัดโคกพระยา ดังปรากฏความระบุไว้ในกฎมณเฑียรบาลซึ่งสันนิษฐานว่าตราขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นอย่างน้อย

 

ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ อาทิ ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ ฉบับพันจันทนุมาศ ฉบับพระราชหัตถเลขา เมื่อนำมาประมวลด้วยแล้ว ต่างก็ได้กล่าวถึงการสำเร็จโทษพระมหากษัตริย์และเจ้านายในสมัยอยุธยาบริเวณโคกพระยาหรือบางสำนวนเขียนเป็นวัดโคกพระยานับรวมแล้วมากกว่า 10 ครั้ง

 

โดยมีเหตุการณ์สำคัญจำนวนไม่น้อยที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา ได้แก่ การสำเร็จโทษพระเจ้าทองรัน หรือ พระเจ้าทองจัน ซึ่งเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ขุนหลวงพะงั่ว โดยพระราเมศวรซึ่งเป็นพระราชโอรสสมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทองเสด็จเข้ามาชิงราชสมบัติ แล้วนำพระเจ้าทองรันขณะมีพระชนม์ 12-15 ชันษาไปสำเร็จโทษที่วัดโคกพระยา

 

การสำเร็จโทษพระยอดฟ้า พระราชโอรสของสมเด็จพระชัยราชาธิราช โดยขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจัน การสำเร็จโทษสมเด็จพระศรีเสาวภาค ซึ่งเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรศ ก่อนการเสด็จขึ้นครองราชของพระเจ้าทรงธรรม การสำเร็จโทษพระพันปีศรีสินขณะเป็นพระอุปราชโดยสมเด็จพระเชษฐาธิรราช เนื่องจากมีการกระทำที่ส่อไปในทางกบฏ

 

การสำเร็จโทษเจ้าฟ้าไชยซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์โตของพระเจ้าปราสาททองจากเหตุการชิงราชสมบัติของสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา ซึ่งต่อมาก็เกิดเหตุให้มีการสำเร็จโทษพระศรีสุธรรมราชา โดยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช รวมถึงเหตุการณ์การสำเร็จโทษเจ้าพระขวัญซึ่งเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเพทราชาโดยสมเด็จพระเจ้าเสือ 

 

จากจดหมายเหตุของวันวลิต ชาวฮอลันดาที่เข้ามาอยุธยาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้กล่าวถึงการนำเจ้านายไปสำเร็จโทษในสถานที่เรียกว่าวัดพระเมรุโคกพระยา โดยระบุตำแหน่งว่าอยู่ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง ซึ่งในปัจจุบันอยู่บริเวณพื้นที่ใกล้กับวัดหน้าพระเมรุและวัดหัสดาวาส ซึ่งพื้นที่ทางเหนือของวัดหน้าพระเมรุเป็นทุ่งนากว้างเรียกว่า ทุ่งลุมพลี มีคลองสระบัวไหลผ่าน ใกล้ๆ กันมีเนินที่มีวัดร้างซึ่งชาวบ้านเรียกว่า วัดโคกพระยา สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่เดียวกับกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารและในจดหมายเหตุ ต่อมากรมศิลปากรจึงได้เข้าไปบูรณะซากวัดแห่งนี้ 

 

นอกจากนี้ ในบริเวณที่ห่างออกไป 2-3 กิโลเมตร มีพื้นที่ที่ชาวบ้านเรียกว่า โคกพระยา เหมือนกัน อยู่กลางทุ่งภูเขาทองใกล้กับพระเจดีย์ภูเขาทอง มีการอ้างอิงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิไปยืนช้างทอดพระเนตรดูกำลังข้าศึกบนเนินโคกพระยาซึ่งในพงศาวดารระบุว่าอยู่ใกล้ทุ่งภูเขาทอง ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ใช้สำเร็จโทษเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์เหตุผลต่างๆ แล้ว สถานที่สำเร็จโทษกษัตริย์และเจ้านายไม่น่าจะเป็นสถานที่อยู่ห่างไกลพระราชวังมากนัก ด้วยเหตุของปัญหาที่ว่าการนำกษัตริย์หรือเจ้านายไปสำเร็จโทษนั้น ต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งชิงตัวกษัตริย์หรือเจ้านายที่ต้องโทษ และเป็นเรื่องที่ต้องกระทำอย่างรวดเร็วเพื่อให้กษัตริย์พระองค์ใหม่สามารถปราบดาภิเษกขึ้นมาระงับเหตุได้ทันท่วงที และจัดการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองต่อไป

 

ดังนั้น สถานที่สำเร็จโทษควรอยู่ใกล้พระราชวังที่เป็นศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งน่าจะเป็นวัดโคกพระยาบริเวณวัดหน้าพระเมรุดังเหตุผลที่กล่าวมา