วิวัฒนาการของพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทย

พิพิธภัณฑ์ เป็นแนวคิดที่เพิ่งวิวัฒนาการขึ้นในประเทศไทยมาไม่ถึง 200 ปี อาจกล่าวได้ว่า พิพิธภัณฑ์มีจุดเริ่มต้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็ยังมิใช่พิพิธภัณฑ์ตามแนวคิดในปัจจุบัน

 

สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นสมัยแห่งการเปิดประเทศ เพื่อติดต่อเชื่อมความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ ทรงสังเกตว่าในนานาอารยประเทศ มีธรรมเนียมที่ประมุขของรัฐได้นำของขวัญหรือเครื่องบรรณาการที่ได้เจริญสัมพันธไมตรีมาจัดแสดงไว้ในพระราชสถานที่ประทับหรือในทำเนียบทางราชการ เพื่อเป็นเครื่องประดับพระเกียรติ และเป็นการแสดงถึงเครือข่ายความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ

 

ทรงรับแนวคิดนี้มา โดยโปรดเกล้าให้สร้างพระที่นั่งบริเวณพระมหามณเฑียร เป็นอาคารสถาปัตยกรรมจีน 2 ชั้น พระราชทานชื่อว่า พระที่นั่งราชฤดี โปรดเกล้าให้ใช้เป็นที่แสดงสิ่งของต่างๆ ที่นานาประเทศส่งมาน้อมเกล้าถวาย ให้ผู้คนที่มาเข้าเฝ้าได้มีโอกาสชมและศึกษา ต่อมาจึงได้มาจัดแสดงใน พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ซึ่งพระที่นั่ง 2 แห่งนี้ถือเป็นจุดกำเนิดของแนวคิดในการจัดพิพิธภัณฑสถานในประวัติศาสตร์ไทย

 

ต่อมาในรัชกาลที่ 5  ทรงมีโอกาสเสด็จต่างประเทศหลายครั้ง โดยเยือนพิพิธภัณฑสถาน หรือ museum สำคัญๆ ในโลกตะวันตกหรือแม้กระทั่งในเมืองอาณานิคม จึงนำแนวคิดการรวบรวมศิลปวัตถุ โดยเฉพาะโบราณวัตถุจากแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญๆ ในประเทศ ที่แสดงให้เห็นรอยร่อยอารยธรรมที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน เพื่อจัดแสดงไว้ในกรุงเทพฯ

 

ทรงโปรดเกล้าให้สร้าง ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง เป็นอาคารห้องโถงขนาดใหญ่ และย้ายสิ่งของใน พระที่นั่งประภาสพิพิธภัณฑ์ มาจัดแสดงไว้ใน ศาลาสหทัยสมาคม ร่วมกับโบราณศิลปวัตถุที่มีพระราชดำริให้รวบรวมมา ต่อมา จึงมีแนวคิดในการก่อตั้ง Royal Museum ประจวบกับตำแหน่งวังหน้าได้ถูกยุบเลิกไป จึงโปรดเกล้าให้นำพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นที่เก็บรักษาโบราณศิลปวัตถุ โดยมีสมเด็จกรมพระยาราชานุภาพเป็นกำลังสำคัญ

 

อย่างไรก็ตาม การเปิดใช้พระราชวังบวรสถานมงคลเป็น โรง Museum ของหลวง อย่างเป็นทางการนั้น เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เป็นครั้งแรก 

 

ในช่วงเวลาใกล้กันกับการเปิดพิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ ก็มีแนวคิดของพระสงฆ์ท้องถิ่นและเจ้านายฝ่ายเหนือผู้ปกครองเมืองลำพูน ในการรวบรวมศิลปวัตถุที่เป็นร่องรอยอารยธรรมหริภุญชัยมาเก็บรักษาและจัดแสดง ในบริเวณวัดพระบรมธาตุหิริภุญชัย โดยมีการจัดทำคำอธิบายและการกำหนดอายุอย่างเป็นระบบเหมือนกับพิพิธภัณฑ์สากลในต่างประเทศ

 

ต่อมาเมื่อศิลปวัตถุเพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงขยายพื้นที่ตรงข้ามด้านหลังวัด ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญชัย โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ด้วย 

 

ปัจจุบัน มีพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเป็นจำนวนมากกว่า 30 แห่ง และยังมีพิพิธภัณฑ์อื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ทั้งที่สังกัดหน่วยราชการและเป็นของส่วนตัวหรือหน่วยงานเอกชน แนวคิดของการจัดพิพิธภัณฑ์ยังได้ขยายออกไปมากกว่าเรื่องการจัดแสดงโบราณวัตถุ ยังมีพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเมืองหรือชุมชน วิถีชีวิตของคนกลุ่มอาชีพต่างๆ ข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้าน อาวุธยุทโธปกรณ์ทางการทหาร เครื่องแบบเครื่องแต่งกาย หรือเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์

 

การมีพิพิธภัณฑ์เพิ่มขึ้นมากมายสะท้อนให้ถึงความกระตือรือร้น ความสงสัยใคร่รู้ของเยาวชนไทยที่มากขึ้น ก็เป็นความโชคดีที่มีหน่วยงานต่างๆ พยายามตอบสนองสิ่งเหล่านี้ จึงทำให้กระบวนการของการจัดตั้งองค์กรพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน