สงกรานต์เมืองนครฯ

วันที่ออกอากาศ: 13 เมษายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

สงกรานต์เป็นเทศกาลฉลองปีใหม่ของวัฒนธรรมไทยมาแต่ดั้งเดิม ปัจจุบันทางราชการได้กำหนดช่วงฉลองเทศกาลไว้ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี โดยตามประเพณีนิยม เทศกาลสงกรานต์จะมีความเกี่ยวเนื่องกับการทำบุญทางพระพุทธศาสนา มีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้า ทำบุญเลี้ยงพระ และพิธีบังสกุลเพื่อระลึกและอุทิศบุญกุศลแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ

 

อย่างไรก็ตาม ประเพณีปฏิบัติก็มีความแตกต่างในแต่ละภูมิภาคขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ รวมถึงภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ 

 

เทศกาลสงกรานต์ที่อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า เมืองนครฯ ซึ่งถือเป็นหัวเมืองใหญ่ของภาคใต้ มีประเพณีปฏิบัติแตกต่างจากเทศกาลสงกรานต์ในกรุงเทพฯ ซึ่งสะท้อนคติความเชื่อและภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของคนท้องถิ่น ชาวเมืองนครฯ มักเรียกวันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็นวันมหาสงกรานต์ว่า วันส่งเจ้าเมืองเก่า

 

เจ้าเมืองในที่นี้ไม่ได้หมายถึงผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ปกครองทางราชการ แต่หมายถึงเทวดาอารักษ์ผู้ทำหน้าที่รักษาชะตาบ้านเมืองและชาวเมืองนครศรีธรรมราช ถือกันว่าวันมหาสงกรานต์เป็นวันที่เจ้าเมืองลากลับไปชุมนุมกันอยู่บนสวรรค์ โดยจะประชุมเทวดากันในวันที่ 14 เรียกว่า วันว่าง เพื่อสลับหมุนเวียนเมืองที่อยู่ในความดูแลกันใหม่และลงมายังเมืองมนุษย์ในวันที่ 15 หรือวันเถลิงศก ซึ่งชาวนครฯ เรียกว่า วันรับเจ้าเมืองใหม่ 

ในวันส่งเจ้าเมืองเก่า ชาวนครศรีธรรมราชจะทำความสะอาดและซ่อมแซมบ้านเรือน จัดเตรียมเครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย และข้าวของสำหรับการไปทำบุญ ชาวนครฯ มีพิธีกรรมหนี่งที่เรียกว่า พิธีลอยเคราะห์ ซึ่งคล้ายกับพิธีลอยกระทง แต่ไม่ได้ลอยกระทงที่ตกแต่งสวยงาม จะใช้กระทงหรือแพทำจากหยวกกล้วยใส่สิ่งของต่างๆ เช่น อาหาร หมากพลู ธูปเทียน ดอกไม้ บางก็นิยมตัดผมตัดเล็บใส่ลงไปด้วย แล้วนำไปลอยในแม่น้ำหรือทะเลพร้อมอธิษฐานให้เคราะห์กรรมทุกข์โศกลอยไปพร้อมกระแสน้ำ

 

นอกจากนี้ ยังมีธรรมเนียมการแห่พระพุทธสิหิงค์ประจำเมือง โดยแห่จากหอพระพุทธสิหิงส์ซึ่งอยู่บริเวณศาลากลางจังหวัด ใช้ขบวนรถคันใหญ่ร่วมด้วยเทพีสงกรานต์แห่ไปประดิษฐานบริเวณสนามหน้าเมือง เมื่อพิธีแห่เสร็จสิ้นแล้วก็เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมสรงน้ำขอพร

 

ในวันที่ 14 หรือวันว่าง ชาวเมืองนครฯ ทุกสาขาอาชีพจะหยุดทำงาน เนื่องจากถือว่าวันนี้ไม่มีเทวดาคุ้มครอง มีธรรมเนียมให้นำสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ร่วมเครื่องมือทำมาหากิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สากและครก ออกมาล้างหรือแช่น้ำ

 

จากนั้นชาวเมืองส่วนใหญ่จะนำภัตตาหาร เครื่องสักการะบูชาต่างๆ ไปทำบุญที่วัด ไปร่วมสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ที่สนามหน้าเมืองและรองน้ำที่ตกจากรางสรงน้ำพระพุทธสิหิงส์กลับบูชาที่บ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล รวมถึงไปสักการะพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของเมือง

 

ในช่วงเย็นจะมีมหรสพต่างๆ อาทิ มโนห์รา หนังตะลุง เพลงบอก และมีการละเล่นสำหรับเด็กอย่างมอญซ่อนผ้า อุบลูกไก่ ชักกะเย่อ ในเทศกาลดังกล่าวด้วย

 

วันรับเจ้าเมืองใหม่ถือเป็นวันสำคัญที่สุดของเทศกาล ชาวเมืองจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ไปร่วมทำบุญที่วัดในช่วงเช้า ส่วนช่วงบ่ายจะมีประเพณีขึ้นเบญจา โดยเชิญผู้ใหญ่ผู้อาวุโสมานั่งบนที่นั่งหรือเบญจา แล้วลูกหลานในครอบครัวจะมาช่วยกันรดน้ำทั้งตัว จึงมักเรียกอีกอย่างว่า ประเพณีอาบน้ำผู้ใหญ่ ขณะเดียวกันจะนิมนต์พระสงฆ์มาสวดให้ศีลให้พรไปด้วย หลังจากนั้นลูกหลานก็นำผ้าไหมมาให้ผลัดเปลี่ยนให้ 

 

ปัจจุบันเมืองนครฯ มีประเพณีมหาสงกรานต์แห่นางดานเมืองนคร ซึ่งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมาไม่ถึง 10 ปี เป็นประเพณีส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด ซึ่งฟื้นฟูประเพณีโบราณของเมืองคือ พิธีตรียัมปวายโล้ชิงช้า ซึ่งเป็นพระราชพิธีทางพราหมณ์ในสมัยอยุธยา โดยนำการแห่นางดานซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในพิธีโล้ชิงช้ามาปฏิบัติให้ชาวนครฯ และนักท่องเที่ยวได้ชม

 

นางดานหมายถึงแผ่นกระดาน 3 แผ่นแกะสลักเป็นรูปพระอาทิตย์-พระจันทร์ รูปพระแม่ธรณี และรูปพระแม่คงคา ซึ่งเป็นเทพบริวารเพื่อรอรับเสร็จพระอิศวรที่จะเสด็จลงมาเยี่ยมโลกในเทศกาลปีใหม่