สมเด็จพระนางเจ้าฯ กับการอนุรักษ์ผ้าไทย

วันที่ออกอากาศ: 19 สิงหาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงมีบทบาทความสำคัญอย่างยิ่งในการอนุรักษ์ผ้าและสิ่งทอของไทย ด้วยทรงเห็นว่าผ้าและสิ่งทอถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์ที่นำมาใช้ทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม การผลิตผ้าและสิ่งทอก็เป็นกิจกรรมสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์ วิถีชีวิต ตลอดจนสภาพแวดล้อมของกลุ่มคนท้องถิ่นต่างๆได้

 

เนื่องจากประเทศไทยประกอบด้วยคนพื้นเมืองกลุ่มต่างๆ ที่สามารถผลิตงานหัตถกรรมประเภทผ้าและสิ่งทอแตกต่างกันไปตามวิถีชีวิตของตน ทั้งภูมิปัญญาในการผลิตเส้นใยและการออกแบบลวดลายต่างๆ ที่สวยงาม จึงทำให้เกิดผลงานผ้าและสิ่งทอมีความหลากหลายและเป็นเอกลักษณ์

 

จากพระราชกรณียกิจที่โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ไปเยี่ยมเยียนราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ทำให้ทรงสังเกตการนุ่งห่มของประชาชนในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งสร้างความสนพระราชหฤทัยและเป็นแรงบันดาลพระราชหฤทัยให้ทรงตระหนักถึงคุณค่าของผ้าไทย โดยทรงเริ่มต้นจากการศึกษาและสะสมผ้าจากท้องถิ่นต่างๆ ตลอดจนการนำผ้าท้องถิ่นเหล่านั้นมาตัดเย็บฉลองพระองค์

 

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 เป็นต้นมา จะพบว่าทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าท้องถิ่นในการพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคนั้นๆ ซึ่งแสดงถึงความพยายามที่จะฟื้นฟูลักษณะการแต่งกายของสุภาพสตรีไทยขึ้นมา โดยในเวลาต่อมาได้ทรงกำหนดลักษณะชุดไทยพระราชนิยม ซึ่งใช้ผ้าไหมไทยชนิดต่างๆ มาเป็นวัสดุสำคัญในการตัดเย็บ ซึ่งปัจจุบันได้กลายมาเป็นชุดสตรีที่นิยมใส่โดยทั่วไปทั้งในลักษณะทางการและกึ่งทางการ  

 

กล่าวได้ว่าบทบาทในการเป็นผู้อนุรักษ์ผ้าไทยของพระองค์ท่าน เริ่มมีความเป็นทางการมากขึ้นในปี พ.ศ. 2521 เมื่อทรงสนับสนุนให้ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพขึ้น โดยมีเป้าหมายสำคัญในการอนุรักษ์และส่งเสริมงานหัตถกรรมท้องถิ่นชนิดต่างๆ ของประเทศ ซึ่งรวมถึงผ้าและสิ่งทอประเภทต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะผ้าไหมที่มีแหล่งผลิตอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

 

ทรงตระหนักว่าภูมิปัญญาการเรียนรู้และเทคนิคการผลิตผ้าไหมมักถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อทรงพบเห็นว่าผู้ผลิตผ้าไหมส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนชราแล้วทั้งสิ้น ซึ่งมีแนวโน้มว่าภูมิปัญญาเหล่านั้นอาจจะสูญหายไปได้ จึงทรงรวบรวมลูกหลานของชาวบ้านเพื่อส่งเสริมให้เรียนรู้วิธีการผลิตเส้นไหม ย้อมสี และผูกลายผ้า โดยอุปการะเข้ามาเป็นสมาชิกของมูลนิธิศิลปาชีพเพื่อฝึกฝนทักษะฝีมือจนชำนาญ

 

นอกจากนี้ ได้ทรงใช้หลักการตลาดเข้ามาช่วยในเรื่องการจำหน่ายสินค้า ตลอดจนการขยายตลาดของผ้าไหมไทยให้เป็นที่นิยมในวงกว้างมากขึ้น โดยเปิดร้านจิตรลดาเพื่อจำหน่ายสินค้าของมูลนิธิศิลปาชีพ โดยรับซื้อผ้าที่ชาวบ้านผลิตในราคาสูงและจัดจำหน่ายในราคาถูก ทำให้ชาวบ้านผู้ผลิตมีรายได้เสริมและสามารถจำหน่ายผ้าไหมของโครงการได้มากขึ้นด้วย

 

อีกทั้งทรงมีพระราชดำริแนะนำให้ชาวบ้านปรับลวดลายและสีสันของผ้าให้เป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อให้สามารถนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าตามสมัยนิยมได้

 

ปัจจุบันผ้าไทยเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ นักออกแบบเสื้อผ้าชื่อดังของหลายๆ ประเทศนิยมนำผ้าไทยไปออกแบบตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสำเร็จรูปและวางจำหน่ายในห้องเสื้อชั้นนำ ซึ่งนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงเข้ามามีบทบาทในการทำให้ผ้าพื้นเมืองของไทยได้อย่างดียั่ง จนผ้าไทยสามารถกลับฟื้นคืนชีวิตมาได้และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก