สมเด็จพระนางเจ้าฯ กับการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย

วันที่ออกอากาศ: 12 สิงหาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงมีบทบาทสำคัญต่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยแขนงต่างๆ ไม่เพียงแต่เฉพาะงานศิลปหัตถกรรมไทยเท่านั้น ยังรวมถึงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของไทยอีกด้วย

 

โดยมรดกวัฒนธรรมไทย หมายถึง ความเจริญทางวัฒนธรรมที่อยู่ในอารยธรรมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่เป็นวัฒนธรรมภาคกลางและวัฒนธรรมของภูมิภาคต่างๆ  ที่ได้หลอมรวมกันเป็นวัฒนธรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์และความเป็นไทยในปัจจุบัน

 

ซึ่งตามประเพณีปฏิบัติของไทยตั้งแต่สมัยโบราณ สถาบันพระมหากษัตริย์มีบทบาทโดยตรงต่อการส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของความเป็นไทยให้ยืนยงอยู่คู่สังคมไทย 

 

กล่าวถึงพระราชประวัติของพระองค์ท่าน การได้ใช้ชีวิตในหมู่พระราชวงศ์ทำให้ทรงมีโอกาสพบเห็นขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทยมาแต่ครั้งพระเยาว์ และการเสด็จพระราชดำเนินไปประทับอยู่ในต่างประเทศ อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส และสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นอารยประเทศที่เห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม จึงทรงได้รับการศึกษา อบรมให้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมด้วย

 

เมื่อทรงอภิเษกสมรสและได้รับพระราชทานสถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์ในฐานะสมเด็จพระบรมราชินีเป็นต้นมา ก็ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอย่างเข้มแข็งในการอนุรักษ์และกระตุ้นเตือนให้ราษฎรให้ประชาชนไทยตระหนักถึงความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมและความเป็นไทยด้านต่างๆ ดังนี้

 

ความสำคัญของภาษาไทย ดังเห็นได้จากพระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานในโอกาสต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ในการใช้สำนวน ถ้อยคำ หรือรูปประโยคของภาษาที่เข้าใจง่าย กระชับ สื่อความหมายได้ชัดเจน และทรงใช้ภาษาในเชิงสร้างสรรค์มีปิยวาจา กล่าวคือ ใช้วาจาอ่อนหวาน สุภาพ เหมาะสมแก่กาลเทศะ

 

นอกจากนี้ ทรงมีพระปรีชาในด้านภาษาเขียนด้วย เห็นได้จากงานพระราชนิพนธ์ปกิณกะความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย รวมถึงพระราชหัตถเลขาที่เป็นจดหมายส่วนพระองค์ หรือพระราชนิพนธ์คำไว้อาลัยบุคคลต่างๆ ทรงใช้ภาษาที่กระชับ รวมถึงสำนวนภาษาและถ้อยคำที่สื่อสารภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

กิริยามารยาทแบบไทย ทรงปฏิบัติรักษากิริยามารยาทไทยได้อย่างงดงามและถูกต้อง อย่างเช่นวัฒนธรรมการกราบไหว้ของคนไทยที่มีระดับของการไหว้แตกต่างกัน โดยทรงปฏิบัติตามจารีตประเพณีได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งยังทรงวางพระองค์ได้อย่างเหมาะสมและมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งพบว่าเวลาที่เสด็จออกไปพบปะประชาชนซึ่งนั่งอยู่กับพื้นแล้ว จะเสด็จประทับราบอยู่กับพื้นแล้วทรงมีพระราชดำรัสกับประชาชนในระดับที่เสมอกัน

 

การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระองค์ในฐานะพุทธมามกะ ทรงเคารพในพระรัตนตรัยและปฏิบัติตนอยู่ในพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด คือ การปฏิบัติธรรม การปฏิบัติสมาธิภาวนา ตลอดจนการฟังพระธรรมเทศนาโดยเฉพาะในวันธรรมสวนะ  

 

นอกจากนี้ ทรงเอาพระทัยใส่ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปะพื้นบ้านอย่างงานหัตถกรรมประเภทต่างๆ รวมถึงศิลปะประจำชาติอื่นๆ เช่น โขน ละคร  โดยในปี พ.ศ. 2537 คณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย ได้ถวายพระราชสมัญญาองค์เอกอัครอุปถัมภ์ มรดกช่างศิลป์ไทย และในปี พ.ศ. 2555 กระทรวงวัฒนธรรมไทย ได้ถวายพระราชสมัญญาอัครภิรักษศิลปิน ซึ่งหมายความว่าศิลปินยิ่งใหญ่ ผู้ปกปักรักษางานศิลปะ เพื่อเป็นการสดุดีพระเกียรติคุณแก่สมเด็จพระนางเจ้าสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถที่ทรงอนุรักษ์ ฟื้นฟู รักษาศิลปะไทยให้อยู่คู่กับคนไทยตลอดไป