สะพานในวัฒนธรรมไทย

วันที่ออกอากาศ: 21 กันยายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

สังคมไทยได้พัฒนาการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำมาช้านานแล้ว ปรากฏหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนใหญ่เป็นสะพานขนาดเล็กซึ่งพบร่องรอยรากฐานและซากของสะพานอยู่พอสมควรตามเกาะเมืองอยุธยา อาทิ สะพานป่าถ่าน ซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองเล็กๆ บริเวณหน้าวัดมหาธาตุและวัดราชบูรณะ สะพานชีกูล เป็นสะพานข้ามคลองเล็กๆ ในเมือง

 

ทั้งยังพบสะพานอีกหลายแห่งที่ใช้เป็นทางสัญจรข้ามคลองท่อ ซึ่งคลองขุดขวางตัวเมืองอยุธยาเพื่อใช้เป็นทางสัญจรหลักในสมัยนั้น ก็พบร่องรอยของสะพานอยู่ท้ายพระราชวังหลวงที่ได้วางฐานรากและตอหม้ออย่างมั่งคง

 

อย่างไรก็ตาม ในสมัยอยุธยายังไม่พบหลักฐานของการสร้างสะพานขนาดใหญ่เพื่อใช้ข้ามแม่น้ำสายใหญ่ที่มีความไหลเชี่ยว ประการหนึ่ง เนื่องจากการสัญจรทางน้ำสามารถใช้เรือข้ามฟากได้อยู่เป็นปกติ ซึ่งสมัยนั้นมีภูมิปัญญาออกแบบสร้างเรือเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ต่างๆ นับร้อยแบบ

 

ประการต่อมา การสร้างสะพานอาจเป็นอันตรายแก่พระนครหากมีการทำศึกสงคราม ซึ่งข้าศึกอาจใช้ลำเลียงกองทัพช้างศึกข้ามมาได้โดยง่าย

 

เทคโนโลยีการสร้างสะพาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสะพานข้ามแม้น้ำขนาดใหญ่ พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดในยุคปฏิรูปบ้านเมืองให้ทันสมัยแบบชาติตะวันตกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสังคมไทยได้รับการถ่ายทอดวิทยาการด้านวิศวกรรมเข้ามา

 

นอกจากนี้ ความจำเป็นของแม่น้ำลำคลองในฐานะเส้นทางสัญจรและขนส่งสินค้าได้ลดความสำคัญลงไปมาก แล้วหันมาใช้ถนนเป็นเส้นทางหลักในการขนส่ง ซึ่งมีการตัดถนนเพิ่มขึ้นจากตัวเมืองพระนครไปยังพื้นที่รอบๆ กรุงเทพฯ จึงมีความจำเป็นต้องสร้างสะพานสำหรับขนถ่ายพาหนะใช้ล้อต่างๆ เพื่อข้ามแม่น้ำลำคลอง 

 

ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าให้สร้างสะพานขึ้นหลายแห่งโดยนำสถาปัตยกรรมสะพานสวยๆ ในยุโรปมาเป็นต้นแบบ อย่างเช่นสะพานปงอาแล็กซ็องดร์ กรุงปารีส ก็นำมาเป็นต้นแบบของสะพานมัฆวานรังสรรค์ ซึ่งใช้ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม

 

ภายหลังการสร้างสะพานได้กลายเป็นพระราชนิยมของพระมหากษัตริย์และเจ้านายเพื่ออุทิศเป็นสาธารณะประโยชน์ในโอกาสที่เจริญพระชนม์มายุในปีสำคัญๆ โดยมากเป็นสะพานที่มีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า "เฉลิม" ทั้งในคลองผดุงกรุงเกษมและคลองแสนแสบ อาทิ สะพานหัวช้างข้ามคลองแสนแสบ ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่าสะพานเฉลิมหล้า 56 เป็นต้น

 

จากนั้นการจราจรทางถนนก็ทวีความสำคัญมากขึ้น การขยายตัวของกรุงเทพฯ ออกไปทางฝั่งธนบุรี จังหวัดปริมณฑล ไปจนถึงการตัดถนนทางหลวงสายใหญ่เพื่อเชื่อมเส้นทางสัญจรไปยังภูมิภาคต่างๆ จึงมีความจำเป็นในการก่อสร้างสะพานขนาดใหญ่เข้ามาแทนที่แพข้ามแม่น้ำซึ่งต้องเสียเวลาขนส่งมาก สะพานขนาดใหญ่สำคัญๆ จึงเกิดขึ้นมาตามลำดับ

 

เริ่มจากสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเชื่อมฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี อาทิ สะพานพุทธฯ สะพานกรุงธน สะพานกรุงเทพฯ สะพานที่เชื่อมเขตปริมณฑลอย่างสะพานนวลฉวี ซึ่งปัจจุบันเรียกสะพานนนทบุรี จนถึงสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง

 

ปัจจุบัน นอกจากความจำเป็นในการตัดถนนสายใหญ่เชื่อมระหว่างจังหวัดต่างๆ ในประเทศ ยังมีความจำเป็นในการตัดถนนสายใหญ่ข้ามแม่น้ำนานาชาติเพื่อเชื่อมเส้นทางสัญจรกับประเทศเพื่อนบ้านเกิดเป็นสะพานที่เรียกว่า สะพานมิตรภาพ เป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ อาทิ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่ใช้ข้ามแม่น้ำโขง สะพานมิตรภาพไทย-พม่า ที่ใช้ข้ามแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำเมย แม่น้ำกก