สัตว์หิมพานต์

สัตว์หิมพานต์ หมายถึง สัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ ซึ่งเป็นป่าในเทพปกรนัมตามคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนาแถบชมพูทวีป ในคัมภีร์ของพราหมณ์และไตรภูมิของพระพุทธศาสนา ระบุตำแหน่งของป่าหิมพานต์ว่าอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างชมพูทวีปกับเขาพระสุเมรุ หรือบริเวณเชิงเขาพระสุเมรุ ซึ่งจินตนาการมาจากป่าที่อยู่ระหว่างตอนเหนือของประเทศอินเดียและตอนใต้ของประเทศเนปาล บริเวณเชิงเขาหิมาลัยซึ่งเป็นป่าดงดิบเขตร้อนที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก

 

แม้ว่าป่าหิมพานต์จะเป็นในจินตนาการ  แต่ในคัมภีร์โบรารณได้บรรยายภาพรายละเอียดของป่าไว้อย่างละเอียด ทั้งชนิดของพันธุ์ไม้ในป่าหิมพานต์ ภูมิทัศน์ที่ตั้งของโขดหิน ลำธาร หรือแหล่งน้ำต่างๆ ซึ่งมีลักษณะพิเศษแต่งต่างจากป่าในความเป็นจริง รวมทั้งได้บรรยายชนิดของสัตว์ต่างๆ ในป่าหิมพานต์อย่างละเอียด ทั้งลักษณะ อากัปกิริยา หรือคุณลักษณะที่แตกต่างกันไป บ้างดุร้ายน่ากลัว บ้างน่ารักน่าเอ็นดูไม่มีพิษภัย บ้างงดงามน่าชม ซึ่งสะท้อนในเห็นถึงสังคมโบราณที่มีคนทั้งดีและร้ายปะปนกัน

 

ในวัฒนธรรมไทยเราได้หยิบยกคุณลักษณะของสัตว์ป่ามาใช้เป็นภาพแทนของสัตว์หิมพานต์ อย่างเช่น การนำภาพของสิงโตซึ่งเป็นสัตว์ป่าล่าเหยื่อ มีคุณลักษณะดุร้ายทระพลังกำลัง มาเป็นภาพแทนของ ราชสีห์ ซึ่งเป็นเจ้าแห่งป่าหิมพานต์ มีพละกำลังอำนาจมากจนเป็นที่ยำเกรงของบรรดาสัตว์ทั้งหลาย

 

สัตว์หิมพานต์ที่มีลักษณะแสดงถึงความดีงาม มีความอ่อนหวาน ลักษณะกึ่งเทพกึ่งมนุษย์ ได้ใช้คุณลักษณะของมนุษย์เข้ามาเป็นสัญลักษณ์ ได้แก่ กินนร และ กินนรี ภาพแทนของนกทัณฑิมาที่เป็นพญานก ได้เค้าจากนกอินทรีหรือเหยี่ยว หรือ หงส์ ที่เป็นสัตว์หิมพานต์ที่มีความสวยงามก็ได้ภาพจินตนาการมาจากห่าน เป็นต้น 
 
ภาพของสัตว์หิมพานต์ปรากฏอยู่ทั่วไปในศิลปะแขนงต่างๆ ของไทย อาทิ งานประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีราชสีห์หล่อสัมฤทธิ์แบบเขมรบายนที่เชิงบันไดทางขึ้นพระอุโบสถ ราชสีห์สีขาวแกะสลักจากหินอ่อนอยู่หน้าและหลังพระอุโบสถ  

 

ในวัดเบญจมบพิตรมีราชสีห์ประดับด้วยลายกนกแบบไทยอยู่ที่บันไดทางขึ้นพระวิหาร  ภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปราชสีห์และคชสีห์ในพระอุโบสถวัดสุทัศน์เทพวนาราม เป็นการแบ่งลักษณะตระกูลของราชสีห์และคชสีห์ แสดงให้เห็นจากสีกายไว้อย่างงดงาม  และภาพป่าหิมพานทั้งผืนถือเป็นหนึ่งในงานจิตรกรรมฝาผนังชิ้นเอกในสมัยรัชกาลที่ 3 

 

นอกจากนี้ ยังมีการใช้ภาพสัตว์หิมพานต์มาเป็นตราสัญลักษณ์ทางราชการ เช่น คชสีห์ในตราสัญลักษณ์กระทรวงกลาโหม ราชสีห์ในตราสัญลักษณ์กระทรวงมหาดไทย หรือการใช้หงส์เป็นหัวเรือพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ เป็นต้น