สินค้านำเข้าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

วันที่ออกอากาศ: 30 กันยายน 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ปัจจุบันคนไทยสามารถหาซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเพื่อใช้อุปโภคบริโภคได้อย่างสะดวกสบาย สินค้านำเข้าเหล่านี้มีอยู่มากมายหลายประเภทและหลากหลายราคาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของคนในทุกระดับชั้น แต่ในอดีตนั้น สินค้านำเข้าจากต่างประเทศถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและมีราคาสูง จึงจำกัดวงผู้บริโภคแต่เฉพาะในกลุ่มชนชั้นสูงในสังคมไทยเท่านั้น

 

กล่าวได้ว่าสินค้าจากต่างประเทศในสมัยอยุธยาก็ดี รัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ดี ได้สั่งเข้ามาเพื่อตอบสนองต่อวัฒนธรรมการบริโภคของกลุ่มชนชั้นสูง ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านาย ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนคหบดีที่มีฐานะมั่งคั่ง 

 

กระบวนการของการค้าขายระหว่างประเทศ คือการแลกเปลี่ยนค้าขายสินค้าระหว่างกันและกัน โดยทั่วไปแล้วมักส่งออกสินค้าที่สามารถผลิตในประเทศได้จำนวนมาก และนำเข้าสินค้าที่ไม่สามารถผลิตได้เอง ซึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น สินค้าส่งออกของไทยจะเป็นผลิตผลทางการเกษตรและสินค้าจากป่าเป็นส่วนใหญ่

 

สำหรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศก็มีทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ผลไม้ชนิดต่างๆ ถ้วยชามเครื่องกระเบื้อง เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าสินค้าต่างๆ เหล่านี้บางส่วนจะเป็นของประเภทเดียวกับที่ผลิตได้เองในประเทศ แต่สินค้าเหล่านี้มักมีคุณภาพดีกว่าของในประเทศ โดยใช้เทคนิควิธีการผลิตขั้นสูงกว่าที่ผลิตกันในประเทศ สินค้าเหล่านี้จึงเป็นของดีมีราคาและเป็นที่นิยมเฉพาะในกลุ่มชนชั้นสูงที่มีฐานะมั่งคั่งพอในการหาซื้อมาบริโภคได้

 

โดยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นิยมนำเข้าสินค้ามาจากกลุ่มประเทศต่างๆ ได้แก่ กลุ่มเอเชียตะวันออก คือ จีนและญี่ปุ่น กลุ่มเอเชียใต้หรืออนุทวีปอินเดีย กลุ่มเอเชียตะวันตก คือ เปอร์เซียหรืออิหร่านในปัจจุบัน รวมถึงประเทศอาหรับในคาบสมุทรอาราเบีย และสุดท้ายกลุ่มประเทศในยุโรป 

 

สินค้านำเข้าในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทั้งที่เป็นสินค้าบริโภคซึ่งหมายถึงอาหารและของกินต่างๆ และสินค้าอุปโภคหรือข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ นั้น มีอยู่มากมายหลายชนิดซึ่งแตกต่างไปตามกลุ่มประเทศที่นำเข้ามา

 

สินค้าบริโภคมักนิยมนำเข้ามาจากประเทศในเอเชียตะวันออก ซึ่งมีวัฒนธรรมของอาหารการกินใกล้เคียงกัน โดยนิยมนำเข้าผลไม้แห้งจากจีน เช่น ลูกพลับ ลูกไหน ลิ้นจี่ดอง เป็นต้น จากเนื้อความในกาพย์แห่ชมเครื่องคาวหวานก็พบว่ามีสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นที่เป็นเครื่องหมักจากถั่วเหลืองหรือปลาอย่างเช่นซอสโชยุ

 

ในกลุ่มอนุทวีปอินเดียและเอเชียตะวันตกมีสินค้านำเข้ามาจำพวกเครื่องเทศต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องประกอบของแกง รวมถึงถั่วชนิดต่างๆ เช่น ถั่วทอง ถั่วสีชมพู เป็นต้น 

 

สำหรับสินค้าอุปโภค ส่วนใหญ่เป็นของใช้ฟุ่มเฟือยเพื่อเสริมบารมีหรือแสดงความมั่งคั่งหรูหราของผู้ใช้สินค้าเหล่านั้น โดยสินค้าอุปโภคไทยที่นำเข้ามาจากประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออก ได้แก่ ผ้าไหมและผ้าแพรจากจีน ซึ่งเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงในด้านเทคนิคการผลิตและคุณภาพของเส้นไหม โดยเฉพาะผ้าแพรของจีนมีคุณลักษณะเด่นเรื่องความเบาของเนื้อผ้าใส่แล้วเย็นสบาย จึงเป็นที่นิยมในราชสำนักใช้เป็นผ้านุ่งหรือผ้าห่ม รวมถึงทำเป็นผ้าไตรจีวรสำหรับถวายพระเถระผู้ใหญ่

 

สินค้าจากจีนยังมีเครื่องถ้วยชามกระเบื้อง ซึ่งเป็นแม่แบบของเครื่องถ้วยชามสวยงามในราชสำนักไทย รวมถึงภาพวาดพงศาวดารจีนหรือภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ ส่วนสินค้านำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ เครื่องเขิน ซึ่งมีการเขียนลวดลายด้วยมืออย่างประณีต นิยมใช้เป็นเครื่องบรรณาการส่งไปยังราชสำนักต่างประเทศ รวมถึงฉากและพัดแบบญี่ปุ่น  

 

นอกจากนี้ ยังนิยมนำเข้าพรม เครื่องสำอาง น้ำหอม น้ำอบต่างๆ จากประเทศในกลุ่มอนุทวีปอินเดียและเอเชียตะวันตก และยังนิยมนำเข้าเครื่องแก้วเจียระไน โคมไฟแก้วที่เรียกว่าแชนเดอเรีย กรอบรูป จากกลุ่มประเทศในยุโรปอีกด้วย