สิมอีสาน

สิม คือคำเรียกของโบสถ์หรือพระอุโบสถในภาษาวัฒนธรรมไทย-ลาว ถือเป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่มีสถาปัตยกรรมโดดเด่นในวัดวาอารามของภาคอีสาน ซึ่งวัสดุก่อสร้างที่นำมาใช้และการออกแบบตกแต่งต่างๆ ได้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม และคติความเชื่อของชาวไทยอีสานได้เป็นอย่างดี

 

วัสดุที่ชาวไทยอีสานนำมาก่อสร้างสิม หรือ อุโบสถ ในยุคเก่า ส่วนใหญ่เป็นวัสดุประเภทไม้ซึ่งหาได้ง่ายในธรรมชาติ อาจจะเป็นไม้เนื้อแข็ง ไม้ไผ่ หรือหวายก็ได้ สิมในภาคอีสานมีขนาดไม่ใหญ่โต เป็นโบสถ์เล็กๆ พอเพียงสำหรับทำสังฆกรรมของพระสงฆ์

 

สะท้อนให้เห็นว่า สิมเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับใช้ในกิจของสงฆ์เท่านั้น อาทิ พิธีอุปสมบท หรือการกฐิน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจของฆราวาส โดยหากฆราวาสจะเข้ามาในเขตวัดเพื่อประกอบพิธีทางศาสนาหรือทำบุญทำกุศลต่างๆ ก็ให้ใช้ลานวัดหรือศาลาวัดที่มีขนาดใหญ่กว่า 

 

สิมอีสาน สามารถแบ่งลักษณะตามการกำหนดเขตพื้นที่สำหรับประกอบกิจของสงฆ์ ได้แก่ สิมบก ซึ่งหมายถึงสิมในเขตวัดทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นสิ่งก่อสร้างถาวรที่ทำจากไม้ อิฐ หรือดิน และ สิมน้ำ ซึ่งก่อเป็นฐานในพื้นที่ที่มีน้ำไหลผ่านล้อมรอบ อย่างเช่นแม่น้ำลำคลองต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นสิมที่ใช้ชั่วคราว ซึ่งในคติของพุทธศาสนาลังกาวงศ์ ถือว่าน้ำเป็นสิ่งบริสุทธิ์สำหรับชำระล้าง จึงสามารถใช้น้ำเป็นมณฑลล้อมรอบเป็นเขตพัทธสีมา

 

สิมบก ยังสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ สิมไม้  สิมก่อ และ สิมโถง เนื่องจากบริเวณภาคอีสาน โดยเฉพาะอีสานทางใต้ เป็นเขตพื้นที่มีป่าไม้มาก ชาวอีสานจึงนิยมก่อสร้างสิมไม้ เนื่องจากเป็นทรัพยากรที่มีอยู่มาก สิมไม้ส่วนใหญ่ก่อสร้างเป็นอาคารลักษณะตอบสูง ขนาดไม่ใหญ่โต แต่พอที่จะประดิษฐานพระพุทธรูปประธานองค์เล็กได้ ทำประตูทางเข้าออกไว้เพียงช่องเดียว มีหน้าต่างไม่เกินด้านละ 2 บาน

 

แม้จะดูเป็นสิ่งก่อสร้างที่เรียบง่าย แต่ก็มีเสน่ห์ในตัว ด้วยความสุนทรียะทางศิลปะของชาวบ้านที่สอดแทรกไว้ในการก่อสร้าง เช่น เทคนิควิธีการเข้าไม้ การแกะสลักไม้เป็นลวดลายต่างๆ ซึ่งชาวบ้านจะประดิดประดอยทำเพื่อเป็นการบูชาพุทธศาสนา 

 

สิมโถง มีหน้าตาเหมือนอาคารศาลา ประกอบด้วยเสาไม้อยู่บนฐานรองรับหลังคา ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีฝาผนัง หรืออาจมีฝาเฉพาะด้านที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน

 

ต่อมาคือ สิมก่อ หมายถึงมีการก่อผนังทั้ง 4 ด้าน เป็นอาคารที่ก่อด้วยอิฐดิบ  การก่อสร้างสิมก่อค่อนข้างมีความประณีตมากกว่าสิมไม้ โดยมีการประดับตกแต่งผนังหรือฐานปั้นปูนเป็นลวดลายต่างๆ ให้สวยงาม มีการทำช่องประตู ช่องหน้าต่าง ซึ่งไม่เกินด้านละ 2 ช่อง 

 

ด้วยความที่สิมมักทำจากไม้หรือวัสดุไม่ค่อยคงทน ส่วนใหญ่จึงผุพังไปตามกาลเวลา แต่ยังคงพบเห็นได้ในจังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดกาฬสินธุ์ หรือในหลายพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานี

 

อย่างไรก็ตาม เท่าที่สำรวจพบจะนับอายุย้อนไปได้ไม่เกินปีพุทธศักราช 2500 ในปัจจุบัน มีความพยายามของวัดใหม่ๆ ในภาคอีสานในการอนุรักษ์สิมอีสาน โดยสร้างพระอุโบสถหรือสร้างสิมในรูปแบบที่รักษาความเป็นเอกลักษณ์ไว้ แต่สร้างให้มีขนาดใหญ่โตขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับจำนวนพระสงฆ์สามเณรที่เพิ่มขึ้น และต้องใช้เป็นพื้นที่สำหรับอุบาสก อุบาสิกา ที่มาปฏิบัติธรรมกันมากขึ้นด้วย 

 

สิมอีสานที่วัดป่าแสงอรุณ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เป็นสิมที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยยกให้เป็นสิมอีสานตัวอย่าง เป็นสิมหลังใหญ่ขนาด 9 ห้อง มีลักษณะตามสิมโบราณกึ่งไทยกึ่งลาว สร้างด้วยอิฐปูนมีลวดลายประดับตกแต่ง ช่อฟ้าเป็นรูปพญานาค ที่สันหลังคาเป็นเรือนยอดหลังเล็กๆ ภาษาอีสานเรียกว่า ยอด-ผา-สาท นอกจากนี้ ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีความสนใจแห่งหนึ่งในภาคอีสาน