สุนทรภู่กับการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

วันที่ออกอากาศ: 24 มิถุนายน 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

สุนทรภู่ได้รับยกย่องว่าเป็นนักเดินทางท่องเที่ยวรุ่นบุกเบิกของเมืองไทย เนื่องจากในชีวิตของท่านได้มีโอกาสเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ มากมาย  ทั้งที่เป็นภารกิจทางราชการ การพักผ่อนหย่อนใจ กระทั่งการท่องเที่ยวเพื่อบรรเทาความทุกข์ใจในช่วงตกต่ำของชีวิตราชการ โดยได้ถ่ายทอดเรื่องราวในการเดินทางของท่านออกมาเป็นผลงานวรรณกรรมสำคัญๆ หลายเรื่อง

 

โดยเฉพาะวรรณกรรมประเภทนิราศที่ท่านประพันธ์ไว้ทั้งสิ้น 9 เรื่อง สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดและความกระตือรือร้นของท่านในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ที่ท่านเดินทางผ่านไป ทั้งในเรื่องสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตผู้คน ตลอดจนวัฒนธรรมคติความเชื่อของท้องถิ่น 

 

นิราศทั้ง 9 เรื่อง เรียงลำดับจากปีที่ประพันธ์ ได้แก่ นิราศเมืองแกลง เป็นเรื่องราวขณะที่ท่านเดินทางไปเมืองระยอง ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นบ้านเกิดของท่าน ประพันธ์ไว้ในปี 2350 ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 2 และในปีเดียวกันยังได้ประพันธ์ นิราศพระบาท ขณะตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ เจ้านายวังหลัง ไปนมัสการพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี

 

นิราศภูเขาทอง ประพันธ์ในปี 2371 เว้นห่างจากนิราศ 2 เรื่องแรกถึง 20 ปี ขณะที่ท่านอยู่ในสมณเพศ นิราศเมืองเพชร ช่วงปี 2371-2374 ซึ่งเป็นช่วงที่ท่านเดินทางไปพำนักอยู่ที่เพชรบุรี หลังจากนั้นจึงกลับมายังพระนครและได้ประพันธ์ นิราศวัดเจ้าฟ้า ประมาณปี 2374 ขณะท่านศึกษาการแปรธาตุและเรื่องเหล็กไหลที่วัดเจ้าฟ้า

 

ช่วงปี 2375-2378  ได้ประพันธ์นิราศอิเหนา ซึ่งเป็นนิราศที่ไม่ได้ประพันธ์จากการเดินทางจริงๆ แต่สมมุติตัวท่านเองเป็นอิเหนาที่ต้องพลัดพลากจากนางบุษบา นิราศสุพรรณ ช่วงปี 2377-2380 มีความพิเศษตรงที่ท่านแต่งเป็นโคลง เป็นนิราศที่แสดงความสามารถทางด้านภาษาของท่าน

 

รำพันพิลาป ประพันธ์ในปี 2385 ปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเดินทางแต่แสดงถึงช่วงชีวิตรันทดในเพศภิกษุของท่านขณะที่จำพรรษาที่วัดเทพธิดาราม และเรื่องสุดท้าย นิราศพระปฐม ช่วงปี 2385-2388 ขณะที่เดินทางไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์องค์เดิมก่อนที่จะมีการบูรณปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ 4 

 

หากศึกษานิราศของสุนทรภู่จะพบว่าท่านนิยมศึกษาชื่อบ้านนามเมืองของท้องถิ่นต่างๆ และนำมาใช้ประโยชน์ในงานประพันธ์ โดยเฉพาะการนำชื่อของสถานที่มาพ้องกับสิ่งที่ท่านต้องการสื่อสารแก่ผู้อ่าน ถือเป็นความสามารถและปฏิภาณกวีที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของท่าน

 

ดังที่ปรากฏในนิราศภูเขาทอง สุนทรภู่เดินทางไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งได้ผ่านย่านหรือชุมชมต่างๆ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็นำชื่อย่านชุมชนมาประพันธ์เปรียบเปรย

 

ถึงบางจากจากวัดพลัดพี่น้อง

มามัวหมองม้วนหน้าไม่ฝ่าฝืน
เพราะรักใคร่ใจจืดไม่ยืดยืน

จึงต้องขืนในพรากมาจากเมือง
(คำว่า"จาก" ในบางจากนำมาสื่อสารเรื่องการจากลา)

 

ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์

มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร

จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจาฯ
(คำว่า "พูด" ในบางพูดนำมาสื่อสารเรื่องความระมัดระวังในการพูดจา)

 

สุนทรภู่ยังได้สอดแทรกประวัติความเป็นมาของสถานที่ต่างๆ รวมถึงการสะท้อนให้เห็นสภาพชุมชนของท้องถิ่นต่างๆ ในช่วงเวลานั้น ดังปรากฏในนิราศภูเขาทอง ขณะที่ท่านเดินทางผ่านเมืองสามโคก ทำให้ท่านรันทดใจนึกถึงช่วงที่ท่านยังรับราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งพระราชทานชื่อใหม่แก่เมืองสามโคกว่าปทุมธานี เนื่องจากบริเวณนั้นมีบัวอยู่เป็นจำนวนมาก (ปทุม แปลว่า บัว)  

 

ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า

พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี

ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว

 

ในนิราศเมืองแกลง ท่านเดินทางตามลำน้ำไปบางปะกง ซึ่งในสมัยนั้นยังเรียกว่าบางมังกง ก็บรรยายถึงสภาพของชุมชนที่แปรรูปสินค้าจากการประมง เมื่อเดินทางถึงบางแสนยังได้บรรยายให้ภาพบรรยากาศของตลาดเขาสามมุก

 

ถึงหย่อมย่านบ้านบางมังกงนั้น

ดูเรียงรันเรือนเลียบชลาสินธุ์
แต่ล้วนบ้านตากปลาริมวาริน

เหม็นแต่กลิ่นเน่าอบตระหลบไป

 

เป็นสองแถวแนวถนนคนสะพรั่ง

บ้างยืนบ้างนั่งร้านประสานเสียง
ดูรูปร่างบรรดาแม่ค้าเคียง

เห็นเกลี้ยงๆ กร้องแกร้งเป็นอย่างกลาง
ขายหอยแครง แมงภู่กับปูม้า

หมึกแมงดาหอยดอง รองกระถาง
พวกเจ๊กจีนสินค้าเอามาวาง

มะเขือคางแพะเผือกผักกาดดอง
ที่ขายผักหน้าถังก็เปิดโถง

ล้วนเบี้ยโป่งหญิงชายมาจ่ายของ
สักยี่สิบหยิบออกเป็นกอบกอง

พี่เที่ยวท่องทัศนาจนสายัณห์

 

นอกจากนี้ สุนทรภู่ยังมีความสนใจในวิถีชีวิตของชาวจีน ซึ่งท่านมักสังเกตสิ่งต่างๆ เหล่านี้ระหว่างการเดินทาง และนำมาประพันธ์ในนิราศของท่านเสมอ ในนิราศเมืองแกลงท่านก็กล่าวถึงศาลเจ้าปูนเถ้ากง ซึ่งเป็นศาลเจ้าเซียนผู้พิทักษ์รักษาชุมชนจีนตามคติความเชื่อลัทธิเต๋า

 

เห็นศาลเจ้าเหล่าเจ๊กอยู่เซ็งแซ่

ปูนทะก๋งองค์แก่ข้างเพศไสย
เกเลเอ๋ยเคยข้ามคงคาลัย 

ช่วยคุ้มภัยปากอ่าวเถิดเจ้านาย

 

กล่าวได้ว่านิราศทั้ง 9 เรื่องของสุนทรภู่ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย ซึ่งมีความเกร็ดความรู้ปกิณกะในเรื่องวิถีชีวิตของผู้คน สภาพความเป็นอยู่ของชุมชน รวมทั้งสภาพภูมิประเทศไทยในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ผู้ที่สนใจอาจลองเดินทางท่องเที่ยวตามเส้นทางในนิราศของท่านแล้วเปรียบเทียบสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในอดีตและปัจจุบันก็จะได้รับประโยชน์ยิ่ง