หมอน

หมอน เป็นเครื่องใช้ประจำวันในครัวเรือน ซึ่งอยู่กับวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่โบราณ โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงธรรมเนียมการใช้หมอนนับย้อนไปไกลได้ถึงสมัยสุโขทัย

 

ในจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง กล่าวถึงประเพณีการทำบุญกฐิน ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงเสด็จพระราชดำเนินไปบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้ากฐินในเขตอรัญญิก และมีการระบุถึงสิ่งของเครื่องใช้ที่นำไปถวายเป็นบริวารผ้ากฐิน โดยมีของใช้ที่เรียกว่า หมอนนั่ง และ หมอนนอน สำหรับถวายแก่พระสงฆ์

 

นอกจากนี้ ในสำนวนไทยก็มีคำว่า ร่วมเรียงเคียงหมอน หมายถึง การร่วมใช้ชีวิตอยู่เป็นครอบครัว ก็เป็นหลักฐานการมีอยู่ของหมอนมาตั้งแต่โบราณ 

 

การใช้หมอนในชีวิตประจำวันถือเป็นวัฒนธรรมสากล แต่ก็มีความแตกต่างของรูปแบบตามแต่ละวัฒนธรรม อย่างเช่น คนจีนนิยมใช้หมอนไม้ เพราะการแพทย์จีนเชื่อว่าการนอนหนุนสิ่งที่อ่อนนุ่มเกินไปส่งผลเสียต่อสุขภาพ หรือหมอนตามแบบตะวันตกที่เรียกว่า Pillow ก็มีลักษณะเหมือนของที่ใช้ในปัจจุบัน

 

ในเชิงวัฒนธรรมนิยมแยกประเภทของหมอนไปตามวัตถุประสงค์การใช้ และบทบาทหน้าที่ของหมอน 
หมอนที่คุ้นเคยที่สุดในวัฒนธรรมไทย คือ หมอนในห้องนอน ซึ่งบนเตียงนอนของคนไทยมีหมอนอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรกคือ หมอนหนุน หรือ หมอนนอน ก็คือหมอนที่ใช้หนุนศีรษะสำหรับนอน ปัจจุบันนี้มีลักษณะแบบตะวันตก

 

แต่เดิมหมอนหนุนของไทยเป็นหมอนที่เย็บเป็นฟูกทีละเปลาะ แล้วจึงพับๆ เข้าด้วยกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม นิยมเรียกว่า หมอนหน้าอิฐ ปัจจุบันยังคงเห็นได้ในวัฒนธรรมอีสาน เย็บด้วยผ้าทอลายขิดที่เรียกว่า หมอนขิด ซึ่งนอกจากเป็นหมอนหนุนของคนไทยมาแต่ดั้งแต่เดิม ยังนิยมใช้เป็นหมอนสำหรับถวายพระในเทศกาลงานบุญต่างๆ ด้วย ทั้งยังเป็นของที่ระลึกสำหรับผู้ไปทำบุญ

 

ประเภทที่สองคือ หมอนข้าง ใช้กอดเพื่อความสบายของผู้นอน และใช้ทับชายมุ้งไม่ให้เปิดออก 

 

นอกจากในห้องนอน ยังมีหมอนในห้องนั่งเล่นหรือห้องรับแขกของคนไทย เรียกว่า หมอนอิง แต่นิยมทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสวางไว้ที่พนักเก้าอี้สำหรับพิง ปัจจุบันนี้ ยังเห็นได้เวลาพระมหากษัตริย์ หรือพระราชวงศ์ผู้ใหญ่เสด็จออกในงานพิธีการต่างๆ ที่พระราชอาสน์จะมีหมอนอิงหรือเรียกคำราชาศัพท์ พระเขนยอิง วางถวายไว้เวลาที่ประทับเพื่อความสำราญพระอิริยาบถ

 

หมอนอิงอีกรูปแบบหนึ่งคือ หมอนขวาน ทำเป็นรูปสามเหลี่ยม ซึ่งเดิมคนไทยนั่งบนพื้นกระดานหรือบนตั่ง ก็จำต้องมีหมอนขวานมาอิงสีข้างเพื่อช่วยผ่อนคลายอากัปกิริยา 

 

อีกประเภทหนึ่งคือ หมอนรองนั่ง ใช้หนุนนั่งบนพื้นแข็งๆ ปัจจุบันมักเรียกว่าเบาะรองนั่ง หมอนนั่งมักวางคู่กับหมอนอิง ประกอบกิริยาของคนไทยที่ชอบนั่งๆ นอนๆ บนพื้น ซึ่งปัจจุบันมีการนำหมอนนั่งกับหมอนขวานมาเย็บติดกันเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว

 

นอกจากนี้ มีหมอนอีกลักษณะที่นิยมใช้ในพิธีการต่างๆ ทั้งของหลวงและของราษฎร์ เรียกว่า หมอนรูปฟักทอง อย่างเช่นในพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่พระบรมวงศานุวงศ์หรือข้าราชการ ตอนที่จะพระราชทานตัวเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เจ้าพนักงานที่รับผิดชอบการเชิญเครื่องราชฯ ขึ้นทูลเกล้าถวาย จะใช้พานรองหมอนรูปฟักทองสำหรับวางดวงตราหรือสายสะพายบนนั้น

 

ในพิธีศพของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ โดยเฉพาะชั้นสายสะพาย หน้าหีบศพจะมีหมอนรูปฟักทองสำหรับวางเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือสายสะพายที่ได้รับพระราชทานมา

 

ในพิธีประดับยศข้าราชการทหารตำรวจ หรือการประดับเครื่องหมายต่างๆ ก็นิยมใช้หมอนรูปฟักทองรองเครื่องหมายยศหรือเข็มเครื่องหมายที่จะประทานในพิธี ขณะเดียวกันในพิธีมงคลสมรส บางครั้งก็จะใช้หมอนรูปฟักทองสำหรับเจ้าบ่าวเจ้าสาววางมือให้ผู้ใหญ่รดน้ำสังข์ ก็เป็นอีกวัตถุประสงค์หนึ่งของหมอนรูปฟักทอง