หมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์

วันที่ออกอากาศ: 23 พฤศจิกายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

หมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ สร้างขึ้นในช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี 2397 ซึ่งเป็นปีแรกที่เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ โดยสร้างติดกันกับหมู่พระพุทธนิเวศน์หรือพระพุทธมณเฑียร สร้างในอาณาบริเวณทางด้านทิศตะวันออกสุดของพระบรมมหาราชวังติดกำแพงพระราชวังด้านถนนสนามชัย ซึ่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นพระราชอุทยานที่เรียกว่า สวนขวา

 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าให้สร้างและตกแต่งสวนด้วยศิลปะจีนยุคราชวงศ์ชิงอย่างวิจิตรงดงาม ครั้งพอถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริสถาปนาหมู่พระราชมณเฑียรเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมชนกนาถ โปรดเกล้าให้แบ่งพื้นที่สวนขวาออกเป็น 2 ส่วน

 

ส่วนหนึ่งทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยด้วยการทรงสร้างหมู่พระพุทธนิเวศน์ ซึ่งมีฐานะเป็นวัดอีกแห่งหนึ่งในพระบรมมหาราชวัง และอีกส่วนหนึ่งทรงสร้างเป็นพระราชมณเฑียรแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกประยุกต์ สำหรับใช้เป็นสถานที่จัดแสดงศิลปะวัตถุที่เป็นเครื่องราชบรรณาการที่ทรงได้รับมาจากนานาประเทศ ซึ่งก็คือหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์

 

รูปแบบสถาปัตยกรรมของพระอภิเนาว์นิเวศน์ได้ผสมผสานอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิคของทางตะวันตกร่วมกับสถาปัตยกรรมจีน โดยเฉพาะลักษณะหลังคาเก๋งแบบจีน รวมทั้งได้นำสถาปัตยกรรมไทยประเพณีเข้ามาผสมผสานด้วย

 

แนวคิดหลักที่ใช้ออกแบบพระที่นั่งต่างๆ ในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ คือโปรดเกล้าสร้างในรูปแบบที่พระมหากษัตริย์จะประทับและทรงดำรงชีวิตอย่างสมัยใหม่ ทั้งเป็นสถานที่เสด็จออกว่าราชการ เสด็จออกแขกเมือง และเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงเครื่องราชบรรณาการต่างๆ ในลักษณะที่เรียกว่า State Apartment ในพระราชวังของพระมหากษัตริย์ในทวีปยุโรป ด้วยมีพระราชดำริว่าพระมหาษัตริย์ควรปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์และวิถีดำรงชีวิตให้เหมือนกับพระมหากษัตริย์ในนานาอารยประเทศ เนื่องจากทรงต้องติดต่อสัมพันธ์กับชาวต่างประเทศมากขึ้น

 

หมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ประกอบอาคาร 11 หลัง เป็นอาคารพระที่นั่ง 8 องค์ ในจำนวนนี้โปรดเกล้าให้รวมพระที่นั่ง 2 หลังที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 3 คือ พระที่นั่งสุไธสวรรค์ปราสาท และพระที่นั่งไชยชุมพล ส่วนอาคารอีก 3 หลังสร้างเป็นหอสำหรับประดิษฐานปูชนียวัตถุ ทรงพระราชทานชื่ออาคารอย่างคล้องจ้องกัน ได้แก่ พระที่นั่งไชยชุมพล พระที่นั่งภูวดลทัศไนย พระที่นั่งสุไธสวรรย์ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งบรมพิมาน พระที่นั่งนงคราญสโมสร พระที่นั่งจันทรทิพโยพาส พระที่นั่งภานุมาศจำรูญ พระที่นั่งมูลมณเฑียร และหอเสถียรธรรมปริตร หอราชฤทธิ์รุ่งโรจน์ หอโภชนลีลาศ และพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีประโยชน์ใช้สอยแตกต่างกันไป

 

อาทิ พระที่นั่งภูวดลทัศไนยเป็นหอนาฬิกา พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกว่าราชการ พระที่นั่งบรมพิมานเป็นที่บรรทม พระที่นั่งนงคราญสโมสรเป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกฝ่ายใน หอโภชนลีลาศเป็นห้องพระราชทานเลี้ยงภัตตาหาร เป็นต้น

 

จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงทุกข์โทมนัสจากการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระบรมชนกนาถในปี 2411 จึงทรงย้ายกลับไปประทับที่พระที่นั่งจักรพรรดิ์พิมานในหมู่พระมหามณเฑียร จนถึงปี 2416 จึงโปรดให้สำรวจสภาพของหมู่พระอภิเนาว์นิเวศ พบว่าวัสดุก่อสร้างที่เป็นไม้ อิฐ และปูน เสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว ไม่ปลอดภัยจะใช้เป็นที่ประทับต่อไป ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้รื้อถอนลงแล้วปรับปรุงพื้นที่เป็นสวน และทรงสร้างพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท พระราชทานเรียกชื่อว่าสวนแห่งนี้ว่า สวนศิวาลัย