อนุสรณ์ในรัชกาลที่ 1

วันที่ออกอากาศ: 6 เมษายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ของพระบรมราชจักรีวงศ์เมื่อวันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2325  ทรงเป็นประธานของระบบบริหารราชการแผ่นดินของสยามประเทศสืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

 

ทั้งยังมีพระราชดำริให้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามายังฝั่งตะวันออก สถาปนากรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแห่งใหม่    ปกครองภายใต้พระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ครองราชสมบัติสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันรวม 9 รัชกาล 

 

ในกรุงเทพมหานครมีอนุสรณ์สำคัญๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกและสดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชอย่างน้อย 7 แห่งที่ควรกล่าวถึง ได้แก่ วัดสระเกศราชวรวิหาร หรือที่ผู้คนสมัยนี้นิยมเรียกว่า วัดภูเขาทอง ซึ่งเป็นวัดดั้งเดิมที่อยู่มาตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงเทพฯ ชื่อวัดสะแก

 

เป็นวัดที่สมัยพระองค์ดำรงยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ใช้ทำพิธีสรงบูรพาภิเษกซึ่งเป็นการอาบน้ำสระผมชำระร่างกายตามคติธรรมเนียมภายหลังกลับมาจากการระงับเหตุจราจลในกรุงกัมพูชา หลังจากเสด็จปราบดาภิเษกแล้ว ทรงรำลึกถึงวัดสะแกจึงโปรดเกล้าฯให้บูรณะและเปลี่ยนชื่อเป็นวัดสระเกศ ซึ่งหมายถึง การสระผม 

 

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ก็เป็นวัดที่รำลึกถึงรัชกาลที่ 1 สร้างก่อนกรุงรัตนโกสินทร์เช่นกัน โดยเป็นวัดประจำชุมชนในเมืองบางกอกมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดโพธาราม หรือ วัดโพธิ์ ต่อมามีพระราชดำริให้ปฏิสังขรณ์วัดนี้อย่างใหญ่โต เนื่องจากเป็นวัดที่อยู่ติดกับพระบรมมหาราชวัง จึงปฏิสังขรณ์ขึ้นให้เป็นเกียรติเป็นศรีแก่บ้านเมือง มีพระพุทธเทวปฏิมากร เป็นพระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 ในเวลาต่อมา

 

หอพระไตรปิฏกวัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่งอดีตเป็นส่วนหนึ่งในจวนที่ประทับของพระองค์เมื่อครั้งยังทรงเป็นขุนนางในกรุงธนบุรี ดำรงพระอิสริยายศเป็นพระราชวรินทร์ แล้วทรงจำเริญก้าวหน้าขึ้นมาเป็นเจ้าพระยาจักรี และสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ตามลำดับ เมื่อเสด็จปราบดาภิเษกก็ทรงยกจวนแบ่งถวายเป็นหอพระไตรปิฏกของวัดระฆังโฆษิตารามและมีการปฏิสังขรณ์และวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังเพิ่มเติม 

 

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ประดิษฐานในปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สร้างขึ้นตามพระราชดำริขององค์รัชกาลที่ 4 จนมาสำเร็จในรัชกาลที่ 5 โดยปั้นเป็นรูปเหมือนจากการสอบถามเชื้อพระวงศ์และขุนนางที่เคยพบพระพักต์ พระบรมรูปทรงยืนเท่าพระองค์จริงฉลองพระภูษานุ่งอย่างลำลอง 

 

ถนนพระรามที่ 1 เป็นถนนที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เดิมเรียก ถนนปทุมวัน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนเป็นถนนพระรามที่ 1 เนื่องจากถนนสายนี้เป็นเส้นทางโบราณที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ในการเสด็จยกทัพไปและกลับจากการระงับเหตุจราจลที่กรุงกัมพูชา ถนนเส้นนี้จึงเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงรัชกาลที่ 1 และบนเส้นทางนี้ก็มีอนุสรณ์อีกแห่งหนึ่ง คือ สะพานกษัตริย์ศึก เดิมเป็นสะพานไม้สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนบูรณะเป็นสะพานคอนกรีตในสมัยรัชกาลที่ 7 

 

สถานที่สุดท้ายคือ ปฐมราชานุสรน์ ประกอบด้วย พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสะพานพระพุทธยอดฟ้า ก่อสร้างในวาระฉลองสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี สมัยรัชกาลที่ 7 เป็นสะพานที่ใช้สัญจรเชื่อมฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีสืบต่อมา และเป็นสถานที่สำหรับถวายราชสักการะเนื่องในวันจักรี วันที่ 6 เมษายน ของทุกปี ซึ่งมีการเสด็จพระราชดำเนินของพระบรมวงศานุวงศ์ คณะรัฐบาล ส่วนราชการและภาคเอกชน ถวายพานพุ่มดอกไม้ ถือเป็นพิธีสำคัญสืบมาจนถึงปัจจุบัน