อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

วันที่ออกอากาศ: 9 มีนาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

อำเภอสามโคก เดิมเคยเป็นศูนย์กลางของจังหวัดปทุมธานีมาก่อน จึงมีความน่าสนใจทางประวัติศาสตร์ให้ได้ทัศนศึกษาและเที่ยวชมร่องรอยของอดีต

 

ในนิราศภูเขาทองซึ่งเป็นวรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ สุนทรภู่ประพันธ์ขึ้นในช่วงต้นรัชกาลที่ 3 ขณะเดินทางไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทอง ซึ่งต้องนั่งเรือผ่านบริเวณเมืองสามโคก ก็คิดถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ปรากฏเป็นความว่า

 

ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า

พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี

ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว
โอ้พระคุณสูญลับไม่กลับหลัง

แต่ชื่อตั้งก็ยังอยู่เขารู้ทั่ว
โอ้เรานี้สุนทรประทานตัว

ไม่รอดชั่วเช่นสามโคกยิ่งโศกใจ

 

ในเวลานั้นเมืองสามโคกได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่าเมืองปทุมธานี เดิมเป็นที่ตั้งของชุมชนมอญที่อพยพจากสงครามมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในสมัยรัชกาลที่ 2 ก็มีเหตุให้ชาวมอญต้องอพยพครั้งใหม่มาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารอีกครั้ง จึงโปรดเกล้าให้จัดแบ่งครอบครัวมอญไปอาศัยอยู่เมืองต่างๆ รวมถึงเมืองสามโคก

 

มีหลักฐานว่าเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ไปประทับแรมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดปทุมทอง ได้ทอดพระเนตรเห็นดอกบัวหลวงบานสะพรั่งอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำของเมืองสามโคก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานนามแก่เมืองสามโคกให้เป็นสิริมงคลว่าเมืองประทุมธานี ภายหลังจึงเปลี่ยวตัวสะกดเป็น ปทุมธานี

 

ด้วยความที่สามโคกเป็นเมืองเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น จึงมีชุมชนตั้งรกรากมาโดยตลอด มีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมมอญที่มีพื้นฐานจากการนับถือพระพุทธศาสนาเหมือนกัน ในเขตอำเภอสามโคกจึงมีจำนวนวัดพุทธมากขึ้น 48 แห่ง ยังไม่รวมวัดร้างจำนวนราวๆ 10 แห่ง เรียกว่าเหมือนกับเมืองอยุธยาน้อยๆ ที่มีซากวัดโบราณจำนวนมากที่น่าตื่นตาตื่นใจ

 

วัดที่มีความสำคัญ ได้แก่ วัดสิงห์ สร้างจากจิตศรัทธาของชาวมอญ วิหารมีลักษณะสถาปัตยกรรมอยุธยาตอนปลาย มีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ รวมถึงพระแท่นบรรทมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสมัยที่เสด็จประพาสเมืองสามโคก และมีการจัดแสดงอิฐมอญโบราณ รวมทั้งมีโรงทำอิฐที่เป็นอุตสาหกรรมพื้นบ้านของชาวบ้านมอญ 

 

วัดเจดีย์ทอง สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีพระเจดีย์ทรงมอญหรือทรงรามัญอายุประมาณ 160 ปีเป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น และมีพระพุทธรูปหยกขาวปางมารวิชัยซึ่งเป็นพระพุทธรูปแบบมอญ วัดนี้ถือเป็นวัดสำคัญในอำเภอสามโคกเป็นสถานที่จัดงานประเพณีต่างๆ ของชาวไทยมอญ

 

วัดป่างิ้ว เป็นวัดที่รวมเอาวัดร้าง 2 แห่ง ได้แก่ วัดพญาเมือง และวัดนางหยาด วัดพญาเมืองเคยเป็นศูนย์กลางของเมืองสามโคกเดิมตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ปัจจุบันเสนาสนะส่วนใหญ่ในวัดเป็นของสร้างใหม่ แต่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถที่น่าชมมาก เป็นจิตรกรรมฝาผนังแบบไทยประยุกต์ รวมถึงซากโบราณสถานของวัดพญาเมืองกับวัดนางหยาด

 

ปัจจุบัน ชุมชนมอญสามโคก ถือเป็นชุมชนมอญใหญ่แห่งหนึ่งในเขตภาคกลางของไทย ซึ่งยังคงดำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมมอญอยู่ในเขตอำเภอสามโคก และมีความใกล้ชิดกับชุมชนมอญในเกาะเกร็ด จังหวัดนนทุบรี เนื่องจากมีเชื้อสายเดียวกัน