ฮูปแต้ม

ฮูปแต้ม เป็นความงามที่ซ่อนอยู่ในสิมอีสาน หรือก็คือภาพจิตรกรรมฝาผนังของโบสถ์ในภาษาภาคกลาง แต่เนื่องจากผู้ที่สร้างสรรค์งานฮูปแต้มส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านหรือพระภิกษุในวัด จึงทำให้ผลงานมีความต่างกับงานจิตรกรรมโดยฝีมือช่างหลวงในภาคกลาง ซึ่งมีความประณีตวิจิตรบรรจงตามกำลังทุนทรัพย์ที่รัฐอุปถัมภ์ให้

 

ผู้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบอีสาน อาจเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้ทางจิตรกรรมมาก่อน จึงทำให้ความสวยงามของภาพค่อนข้างธรรมดา แต่มีสิ่งที่สำคัญกว่าคือการสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญา วิถีชีวิต และเรื่องราวในการดำเนินชีวิตของผู้คนในภาคอีสานออกมาเป็นชีวิตจิตใจ 

 

คำว่า ฮูปแต้ม ถ้าออกเสียงในภาษากลางก็คือ รูปแต้ม หมายถึงภาพที่มาจากการแต้มสี ผู้ที่วาดภาพจิตรกรรมฝาผนังในภาคกลางเรียกว่า ช่างวาด หรือ จิตรกร แต่ในอีสานเรียกผู้เขียนฮูปแต้มว่า ช่างแต้ม เป็นการใช้ภาษาสื่อความหมายที่ตรงไปตรงมา

 

เราสามารถชมฮูปแต้มในสิมอีสานทั้งผนังด้านในและด้านนอกของสิมเท่านั้น ซึ่งวาดเป็นภาพต่อเนื่องกัน มีขนบธรรมเนียมการวาดคล้ายกับภาคกลาง คือ นิยมวาดเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้าปัญจระ ภาพมารผจญ ภาพไตรภูมิ

 

หรือแม้แต่ชาดกตามคติพุทธศาสนาเถรวาท เช่น ทศชาติชาดก หรือชาดกที่คนอีสานนับถือมากอย่าง เวสสันดรชาดก แต่สำนวนของภาคอีสานจะมีลักษณะคล้ายกับนิทานพื้นบ้าน ซึ่งเนื้อเรื่องบางตอนไม่ตรงกับภาคกลาง ภาพสัตว์ที่มีคุณกับพระพุทธศาสนา อาทิ ช้าง นาค ก็ปรากฏอยู่มากในฮูปแต้มอีสาน

 

นอกจากนี้ ยังมีภาพที่สะท้อนให้ถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน เช่น ภาพเครื่องแต่งกายของชาวบ้านและพระภิกษุสงฆ์ในท้องถิ่น ภาพประเพณีงานบุญต่างๆ หรือภาพขบวนเกวียน วัวต่าง ม้าต่าง ที่ขนสินค้าระหว่างพื้นที่เมืองต่างๆ ในภาคอีสาน รวมถึงเรื่องการจับสัตว์น้ำ การทอดแหจับปลา การนำปลามาทำปลาแดกหรือปลาร้า 

 

สำหรับเทคนิคการวาดฮูปแต้มนั้น จะไม่มีการร่างภาพเหมือนจิตรกรรมฝาผนังในภาคกลางที่ต้องใช้กระดาษฟางมาปรุภาพ แล้วจึงถ่ายภาพที่ปรุลงบนผนังก่อนวาดเส้นลงไป ช่างแต้มเพียงแต่ร่างเส้นดินสอลงไปบนผนังแล้วจึงลงสีแต้มปะเส้น สีที่ใช้อาจเป็นสีธรรมชาติหรือสีเคมีก็ได้

 

ถ้าเป็นสีธรรมชาติจะทำขึ้นเองจากวัสดุท้องถิ่น เช่น สีน้ำเงินจากต้นคราม สีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลอมดำทำจากยางรัก สีม่วงจากลูกหว้า สีเหลืองจากยางของต้นรง สีดำจากเขม่าก้นหม้อ หรือสีแดงจากหินชนิดหนึ่ง ภาพที่ออกมาจึงมีสีพื้นๆ ไม่โดดเด่น นอกจากนี้ พื้นหลังของฮูปแต้มนิยมให้คงสีของพื้นผนังเอาไว้ ใช้การวาดเส้นสีเทาแบ่งให้เห็นเป็นเรื่องๆ ไป มักมีตัวหนังสือเขียนกำกับเพื่อบอกว่าเหตุการณ์ตามภาพนั้นๆ โดยพบทั้งอักษรไทยและอักษรลาว

 

ภาพฮูปแต้มหลายแห่งยังอยู่ในสภาพดี แต่ทั้งหมดเป็นภาพในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา เนื่องจากชาวอีสานมักสร้างสิมด้วยไม้ อิฐ หรือดิน ซึ่งเป็นวัสดุไม่คงทน ทำให้ต้องมีการซ่อมแซ่มหรือสร้างขึ้นใหม่อยู่บ่อยครั้ง 

 

ภาพฮูปแต้มที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบได้มีอายุไม่เกิน 150 ปี หรือในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่วัดหนองสระบัว อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งสยามสมาคมได้สำรวจพบ จึงสนับสนุนเงินทุนในการบูรณะและอนุรักษ์ไว้ทั้งตัวสิมและฮูปแต้ม ทำให้อยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์มาจนถึงปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ ยังมีภาพฮูปแต้ม ในอำเภอมัญจาคีรี ที่ได้รับการอนุรักษ์และบูรณะจากเงินทุนขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ซึ่งมองว่าฮูปแต้มอีสานเป็นหนึ่งในมรดกภูมิปัญญาประเภทหนึ่งของโลก โดยเฉพาะการสะท้อนมรดกทางภูมิปัญญาของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้