เครื่องจักสานในภาคกลางของไทย

วันที่ออกอากาศ: 7 กรกฎาคม 2556
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ล้วนแต่มีการผลิต และใช้เครื่องจักสานในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น ซึ่งรวมถึงในภาคกลางของประเทศ ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งปลูกข้าวแหล่งใหญ่ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีการประดิษฐ์เครื่องจักสาน มีความหลากหลายทั้งชนิด และขนาด เพื่อใช้สอยในกิจกรรมประเภทต่างๆ  

 

คนไทยในภาคกลาง มีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับเครื่องจักสานมาตั้งแต่โบราณ สำหรับชาวสวน ก็ใช้ตะกร้อจักสานในการสอย หรือเก็บเกี่ยวผลไม้ ใช้กะบุง ตะกร้า สำหรับใส่ และจัดเก็บผลไม้

 

มีการใช้ชลอมเล็กๆ ที่ทำจากตอกไผ่ นำมาห่อผลไม้เพื่อกันแมลง โดยสานให้มีช่องระบายอากาศ ไม่ให้อบจนผลไม้เน่าเสีย ซึ่งสามารถรักษาให้ผลไม้เติบโต สวยงาม เป็นสินค้าราคาดี อย่างเช่น กระท้อน ชมพู่ ชมพู่มะเหมี่ยว หรือแม้แต่ทุเรียน ก็ใช้ชลอมหอตามขนาดแตกต่างกันไป

 

รวมถึงเครื่องมือวิดน้ำจากร่องสวน ก็ใช้ที่เครื่องมือตักน้ำที่สานจากหวาย และทำด้ามจากไม้ไผ่ที่มีก้านยาว

 

สำหรับชาวประมงในภาคกลาง ก็ใช้เครื่องมือจับปลาที่เป็นเครื่องจักสาน เช่น ไซ สุ่ม ลอบ ซึ่งสานให้มีระยะช่องไฟพอเหมาะให้น้ำไหลผ่าน เพื่อดักหรือกักปลา และสัตว์น้ำอื่นๆ ให้เข้าไปอยู่ในภาชนะนั้น

 

เครื่องจักสานประเภทหนึ่ง ที่ถือเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของคนไทยภาคกลาง ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้ง คือหมวกที่เรียกว่า งอบ สามารถใช้ทั้งชาวนา ชาวสวน รวมถึงชาวประมง

 

มีข้อความในพระนิพนธ์ของ เจ้าฟ้าสมเด็จพระนิศรานิรัติวงศ์ เป็นลายพระหัตถ์ที่ส่งไปกราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรับสั่งชมข้อดี และชมประโยชน์ของงอบ ซึ่งเป็นหมวกสานใบลานชนิดหนึ่งของชาวไทยภาคกลาง

 

เมื่อครั้งเสด็จไปอยุธยา เพื่อทอดพระเนตรการขุดค้นโบราณสถานที่อยู่ในกรุงเก่า ซึ่งอากาศร้อนมาก ทรงนำพระมาลา หรือหมวกที่ตัดเย็บจากผ้าสักหราด มาสวมกันแดด ซึ่งรับสั่งมาใช้ไม่ดีในสภาพอากาศของเมืองไทย เนื่องจากไม่มีช่องระบายอากาศให้ระบายความร้อน ทำให้ประชวร ต่อมาจึงทรงใช้งอบแบบที่คนอยุธยาใช้ ปรากฏว่าใส่สบาย

 

ภายหลังเมื่อเสด็จไปอยุธยา หรือหัวเมืองต่างๆ ก็ทรงสวมงอบไปตลอด สะท้อนเห็นภูมิปัญญาของคนไทยในการประดิษฐ์เครื่องใช้ต่างๆ ให้เหมาะสมกับสภาพวิถีชีวิตจริง

 

เครื่องจักสานของภาคกลางส่วนใหญ่ นิยมนำไม้ไผ่มาเป็นวัสดุ โดยขึ้นรูปโครงจากหวาย เนื่องจากไผ่เป็นพืชท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อภาคตะวันตก ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เป็นป่าเขา จะพบต้นไผ่ขึ้นตามธรรมชาติจำนวนมาก

 

แหล่งผลิตครื่องจักสานที่สำคัญในภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดอ่างทอง จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอยุธยา ซึ่งจะพบว่าตามฝั่งถนนที่ใช้เป็นเส้นทางไปภาคเหนือ จะพบร้านจำหน่ายเครื่องสานจำนวนมาก อาทิ ฝาชี กระบุง ตะกร้า เป็นต้น

 

ในจังหวัดอ่างทองก็มีกลุ่มจักสานไม้ไผ่ ที่ตำบลบางเจ้าฉ่า ซึ่งมีชื่อเสียงมาก ในฝีมือการสานกระเป๋าได้อย่างละเอียดประณีต ส่วนจังหวัดอยุธยา มีชื่อเสียงมากในการสานปลาตะเพียนโมบาย

 

ปัจจุบัน เครื่องจักสานภาคกลางของประเทศไทย กลายเป็นสินค้าที่สามารถออกส่งไปยังต่างประเทศ ทั้งในยุโรป และอเมริกา ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมาก ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภท ตะกร้า ภาชนะต่างๆ กล่องกระดาษทิชชู่

 

รวมถึง พัด ที่เป็นงานจักสานประยุกต์อีกชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงมานานแล้ว โดยสานจากตอกไม้ไผ่เป็นลายพื้นฐานต่างๆ หรือลายยกดอก แล้วขึ้นรูปตัวพัดเป็นรูปร่างต่างๆ อาทิ รูปไข่ รูปใบโพธิ์ รูปเพชร อาจจะย้อมสีพัดเพิ่มเติมเพื่อความสวยงาม หรือไม่ลงสีก็ได้

 

เครื่องจักสาน จึงถือเป็นงานหัตถกรรมที่สำคัญของคนภาคกลาง ตั้งแต่การนำมาใช้สอยในชีวิตประจำวัน จนถึงการผลิตเป็นสินค้า จนกลายอาชีพที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน