เดินสวนเดินนา

วันที่ออกอากาศ: 16 กันยายน 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ในช่วงสมัยกรุงธนบุรี มาจวบจนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นช่วงที่ราชสำนักไทยพยายามฟื้นฟูบ้านเมือง ภายหลังจากการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา จึงจำเป็นต้องมีการจัดเก็บรายได้เข้าท้องพระคลังให้มากขึ้น เพื่อใช้ในงานราชการต่างๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การก่อร่างสร้างตัวของราชธานีแห่งใหม่ให้เป็นหลักเป็นฐาน

 

แต่เนื่องจากการจัดเก็บภาษีตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติกันมาในสมัยอยุธยาเริ่มไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย ราชสำนักจึงพยายามแสวงหารายได้ใหม่ๆ เพิ่มเติม เช่น รายได้การค้าสำเภาจีนซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการเอง ภาษีจากเรือสินค้าที่เรียกว่าภาษีอากรจังกอบ การเก็บภาษีแทนการเกณฑ์แรงงาน เป็นต้น

 

ในสมัยรัชกาลที่ 2 ภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงครองราชย์ครบ 3 ปี ทรงมีแนวคิดการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ที่เรียกว่า การเดินสวนเดินนา ซึ่งเป็นภาษีที่เก็บจัดเก็บตามจำนวนผลผลิตที่ประเมินได้จากที่สวนไร่นาของราษฎร

 

ทรงมีพระราชวินิจฉัยภายหลังจากการย้ายการราชธานีมาอยู่ที่บางกอกว่า นอกจากการขยายพื้นที่ของที่นาสมัยกรุงธนบุรีแล้ว บริเวณโดยรอบราชธานีมีการทำไร่สวนผลไม้อยู่หนาแน่น ซึ่งชาวสวนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างล้วนแล้วแต่มีฐานะเป็นคหบดีทั้งสิ้น  

 

สิ่งนี้เป็นแรงบันดาลพระทัยสำหรับการจัดเก็บอากรภาษีจากไร่สวนและที่นาต่างๆ ไม่ให้รั่วไหล โดยเฉพาะภาษีเดินสวนซึ่งมีอัตราจัดเก็บสูงกว่าภาษีเดินนา เนื่องจากชาวสวนมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า 

 

ภาษีเดินสวน เป็นการส่งข้าหลวงออกไปสำรวจและรังวัดพื้นที่สวนของราษฎร ซึ่งจะเก็บภาษีตามจำนวนต้นของไม้ผล โดยมีอัตราจัดเก็บแตกต่างไปตามชนิดของผลไม้ที่ปลูก สามารถแบ่งอากรได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

 

– อากรสวนใหญ่ มีอัตราภาษีสูงที่สุด จัดเก็บจากผลไม้ยืนต้นชั้นดี ซึ่งมีทั้งหมด 7 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด มะม่วง มะปราง ลางสาด หมาก และพลูค้างทองหลาง โดยทุเรียนมีอัตราการจัดเก็บภาษีสูงที่สุดถึงต้นละ 1 บาท ซึ่งถือเป็นอัตราที่แพงมากเมี่อเปรียบเทียบกับข้าวที่มีราคาไร่ละ 1 สลึงในเวลานั้น

 

– อากรพลากร จัดเก็บภาษีจากไม้ยื่นต้นที่มีลำดับชั้นรองลงมา มีทั้งหมด 8 ชนิด ได้แก่ ขนุน สะท้อนหรือกระท้อน  เงาะ ส้ม มะไฟ ฝรั่ง สับปะรด และสาเก

 

– อากรสมพัตสร จัดเก็บจากผลไม้ล้มลุกมีทั้งหมด 2 ชนิด ได้แก่ กล้วย และ อ้อย

 

ภาษีเดินนา มีการส่งข้าหลวงออกไปสำรวจรังวัดพื้นที่นาของราษฎร โดยจัดเก็บภาษีตามประเภทของนา ดังนี้

 

– นาท่า หรือ นาคู่โค คือนาที่ปลูกข้าวได้ปีละหลายครั้งโดยอาศัยน้ำท่าจากแม่น้ำลำคลอง มีการจัดเก็บภาษีเป็นหางข้าวซึ่งเป็นผลผลิตส่วนเกินจากนาข้าวในแต่ละแปลง โดยประเมินจำนวนผลผลิตจากการนับจำนวนโคหรือกระบือที่ชาวนาใช้ทำนา สำหรับนาท่านี้ แม้ว่าจะไม่ได้ผลผลิตในปลายปี ชาวนาก็ยังต้องเสียภาษีหางข้าวเพราะว่าได้ใช้ทรัพยากรของหลวงคือน้ำท่าแล้ว

 

– นาฟางลอย หรือ นาดอน คือนาที่ปลูกโดยอาศัยน้ำฝน จัดเก็บภาษีตามจำนวนตอฟางข้าวภายหลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว หากในปีใดไม่ได้ผลผลิตก็ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี

 

ภาษีเดินสวนเดินนานั้น ใช้มาจนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 จึงทรงปรับเปลี่ยนระบบการเก็บภาษีอากรตามแนวคิดสมัยใหม่ ต่อมาได้พัฒนาปรับปรุงจนกลายมาเป็นพระราชบัญญัติอย่างในทุกวันนี้