เมืองเสมา (โคราชเก่า)

วันที่ออกอากาศ: 5 กุมภาพันธ์ 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

เมืองเสมา เป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา แต่เมืองเสมานี้ คือจุดกำเนิดของเมืองนครราชสีมา หรือ โคราช ในปัจจุบัน

 

จากร่องรอยศิลปวัตถุที่สำรวจพบ พบว่าเป็นเมืองโบราณที่มีอายุยาวนานตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 12 จนถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง มีการสันนิษฐานว่าเป็นเมืองเดียวกับที่ปรากฏชื่อในจารึกของอาณาจักรกัมพูชา คือ โคราฆปุระ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นที่มาของคำว่าโคราช 

 

จากการขุดค้นทางโบราณคดี พบร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แต่วัฒนธรรมแรกที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาในพื้นที่นี้ คือ วัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งแพร่วัฒนธรรมพุทธศาสตร์จากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำป่าสัก บริเวณรอยต่อระหว่างที่ราบลุ่มภาคกลางกับที่ราบสูงโคราช ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองเสมา

 

ปัจจุบันมีศิลปวัตถุแบบทวารวดีที่น่าสนใจอยู่ใน วัดธรรมจักรเสมาราม อำเภอสูงเนิน ซึ่งพบพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ สร้างในพุทธลักษณะทวารวดี กำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 มีความยาว 13.30 เมตร สูง 2.80 เมตร สร้างด้วยการนำหินทรายแดงมาก่อขึ้นแล้วแกะสลักเป็นพระพุทธรูป และยังพบหลักเสมา ซึ่งน่าจะเป็นเขตอุโบสถเดิม

 

นอกจากนั้น ยังได้พบธรรมจักรแกะสลักจากหินทรายในศิลปะทวารวดี เป็นธรรมจักรขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายคลึงกับธรรมจักรที่พบในเขตเมืองนครปฐม 

 

เมื่อวัฒนธรรมทวารวดีเสื่อมลง วัฒนธรรมของอาณาจักรกัมพูชาโบราณก็ได้เข้ามาเจริญรุ่งเรืองจนถึงที่ราบลุ่มภาคกลาง ซึ่งได้สำรวจพบปราสาทหินเขมรหลายแห่งในเมืองเสมา โดยโบราณสถานที่เป็นศูนย์กลางของเมืองเป็นศาสนสถานพราหมณ์แบบเขมร แม้ปรักหักพังเหลือแต่ฐานอิฐ แต่ก็สำรวจพบศิลปวัตถุรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งแสดงว่าวัฒนธรรมเขมรเข้ามามีอิทธิพลแทนที่ในเมืองนี้ด้วย

 

นอกจากนี้ มีปราสาทหิน 2 แห่ง ได้แก่ ปราสาทเมืองแขกและปราสาทโนนกู่ โดยปราสาทเมืองแขกมีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ ได้รับการขุดแต่งและบูรณะโดยกรมศิลปากร เรียกได้ว่าเป็นปราสาทหินเขมรแห่งแรกที่สามารถพบได้ในการเดินทางมาจากกรุงเทพ

 

ในพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา วัฒนธรรมไทยสยามซึ่งมีตัวแทนคือพระนครศรีอยุธยา ได้เจริญขึ้นมาแทนในพื้นที่ภาคกลาง เมืองเสมายังมีฐานะสืบต่อมาในสมัยอยุธยาตอนต้น คำว่า เสมา ได้กลายเป็นคำท้ายนามของเมืองนครราชสีมา

 

จนมาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ด้วยมีพระราชดำริในทางยุทธศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ โปรดเกล้าให้ย้ายเมืองนครราชสีมาไปสร้างใหม่ในบริเวณพื้นที่ของอำเภอเมืองในปัจจุบัน ทำให้เมืองเสมาถูกทิ้งร้างจนกลายสภาพเป็นซากโบราณสถาน 

 

อย่างไรก็ตาม ร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ทำให้ทราบว่า เมืองเสมา เป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีความคึกคัก มีวัฒนธรรมทางศาสนาที่บูรณาการมาจากวัฒนธรรมอินเดียที่หลากหลาย ด้วยเป็นเมืองชุมทางของการเดินทางติดต่อระหว่างที่ราบภาคกลางกับเขตที่ราบสูงโคราช เป็นเส้นทางเชื่อมไปทางลาวหรือพื้นที่อีสานตอนบน หรือเชื่อมออกไปทางกัมพูชา

 

เป็นเมืองที่อาจจะเทียบเคียงได้กับเมืองพิมายที่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรว่าปกครองโดยเจ้านายที่มีเชื้อสายจากเมืองพระนคร ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรกัมพูชา สันนิษฐานกันว่า เมืองเสมาเองน่าจะมีฐานะใกล้เคียงกัน เพราะมีการสร้างปราสาทหินขนาดใหญ่จำนวนมาก 

 

จากหลักฐานต่างๆ ที่แสดงให้เห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมในเมืองเสมานี้ เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจที่ทำให้เราตระหนักได้ว่า วัฒนธรรมไทยภาคกลางที่เป็นวัฒนธรรมกระแสหลักในทุกวันนี้ ไม่ได้เป็นการรังสรรค์วัฒนธรรมขึ้นมาใหม่โดยไม่มีรากฐานอะไรรองรับ แต่ความเป็นเราในทุกวันนี้ มาจากการหล่อหลอมวัฒนธรรมโบราณที่หลากหลาย ทั้งจากภายในและภายนอกที่ราบภาคกลาง