เมืองโบราณดงละคร

วันที่ออกอากาศ: 1 มิถุนายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

เมืองดงละคร เป็นเมืองโบราณสำคัญตั้งอยู่ในตำบลดงละคร อำเภอเมืองนครนายก โดยกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2478 เป็นเมืองโบราณที่มีสันฐานรูปไข่เกือบเป็นวงกลมมีอายุสืบได้ตั้งแต่ยุคทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 10-18

 

ปรากฎร่องรอยของคูน้ำคันดิน 2 ชั้น ตัวเมืองครอบคลุมอาณาบริเวณประมาณ 3,000 ไร่ เส้นผ่านศูนย์กลางของเมืองกว้างประมาณ 700-800 เมตร พื้นที่ในตัวเมืองส่วนหนึ่งเป็นเนินสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 30 เมตร

 

ปัจจุบันยังคงมีร่องรอยซากโบราณสถานปรากฎอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ใหญ่โตสมบูรณ์มากนักเมื่อเทียบกับโบราณสถานทวารวดีแห่งอื่นๆ อย่างเช่น นครปฐม อู่ทอง คูบัว หรือศรีเทพ

 

โบราณสถานสำคัญในเมืองดงละครมีอยู่ประมาณ 3-4 แห่ง แต่ไม่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ คงเหลือเพียงฐานรากและซากปรักหักพัง โบราณสถานหมายเลข 1 ตั้งอยู่นอกตัวเมือง เหลือเพียงแค่ฐานรากที่มีลักษณะคล้ายกำแพงแก้ว ก่ออิฐดินเผา มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตรงกลางมีฐานรูปเคารพ 2 ฐาน

 

ในบริเวณดังกล่าวยังพบซากของสถูปโบราณแบบทวารวดีสร้างอยู่ใกล้เคียงกัน ถือเป็นโบราณสถานหมายเลข 2 ซึ่งในบริเวณโบราณสถาน 2 แห่งนี้ กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีร่วมกับภาควิชาโบราณคดีของมหาวิทยาลัยไวกาโต (Waikato) ประเทศนิวซีแลนด์

 

พบศิลปวัตถุยุคทวารวดีเป็นจำนวนมาก อาทิ พระพุทธรูป เศียรพระพุทธรูปทองคำ แหวน กำไร ตุ้มหู ลูกปัดหิน เครื่องประดับชนิดต่างๆ ซึ่งบ่งบอกวัฒนธรรมยุคทวารวดี ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในพิพิทธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี

 

จุดที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งคือสระน้ำโบราณ ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางทิศเหนือ เป็นสระน้ำที่ขุดในบริเวณที่มีศิลาแลงที่เรียกว่า บ่อแลง สันนิษฐานว่าน่าเกิดจากการขุดเอาศิลาแลงไปใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างศาสนสถานหรือเชิงเทินกำแพงเมือง ทำให้พื้นที่บริเวณนั้นมีความลึกจนสามารถกักเก็บน้ำได้

 

ในคำอธิบายของกรมศิลปากรกล่าวว่าเป็นสระน้ำสำหรับให้ชาวเมืองชำระร่างกายก่อนที่เข้าเมือง หรือใช้เป็นปราการสำหรับป้องกันข้าศึกโจมตีประตูเมืองทางทิศเหนือ

 

จากการศึกษาทางธรณีวิทยาพบว่าในอดีตขอบชายทะเลฝั่งอ่าวไทยอยู่ลึกเข้าไปจนถึงสิงห์บุรีและลพบุรี เมื่อเปรียบเทียบกับแผนที่โบราณของสมัยทวารวดีจะพบว่ามีเมืองโบราณต่างๆ ในยุคทวารวดีตั้งอยู่โดยรอบขอบทะเลอ่าวไทยในสมัยอดีต เรียงรายต่อเนื่องกันจากทิศตะวันตกของอ่าวไทย

 

ตั้งแต่เมืองโบราณบริเวณเชิงเขานางพันธุรัตน์ อำเภอชะอำ  เมืองโบราณคงตึก เมืองโบราณคูบัว เมืองอู่ทอง เมืองนครปฐม วกลงมาสู่ฝั่งตะวันออกมีเมืองลพบุรี เมืองซับจำปา ลงมาสู่เมืองในลุ่มแม่น้ำนครนายก ได้แก่ เมืองโบราณดงละคร เมืองศรีมโหสถ และเมืองพระรถ จึงมองเห็นเครือข่ายกลุ่มเมืองของอาณาจักรทวารวดีเป็นรูปโค้งเว้ารอบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน

 

เมืองโบราณดงละครในสมัยทราวดีจึงเป็นเมืองที่อยู่ใกล้ทะเล จากหลักฐานทางโบราณคดีอย่างเช่นเศษเครื่องถ้วยชามที่พบในเมืองโบราณดงละครซึ่งเคลือบสีฟ้าอ่อน นักโบราณคดีพบว่าเป็นเครื่องถ้วยชามจากเปอร์เซีย มีแหล่งผลิตอยู่ที่เมืองชีราซในประเทศอิหร่านปัจจุบัน

 

ลูกปัดหินต่างๆ ก็ถือสินค้านำเข้าของยุคนั้น จึงสรุปได้ว่าเมืองดงละครน่าจะเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในเครือข่ายเส้นทางการค้าทางทะเลระหว่างอินเดียกับจีนในสมัยโบราณ  

เมืองดงละครยังคงดำรงอยู่มาอย่างน้อยถึงยุคที่อารยธรรมเขมรขยายอิทธิพลเข้าครอบคลุมบริเวณลุ่มแม่น้ำนครนายก เนื่องจากพบศิลปวัตถุเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนามหายานและมีรูปแบบงานศิลปกรรมเขมรแบบบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

 

ภายหลังเมืองดงละครก็ได้ล่มสลาย ซึ่งนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำนครนายกที่เปลี่ยนเส้นทางน้ำไหลห่างไกลออกไปจากตัวเมือง ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำ เมืองดงละครจึงเสื่อมความสำคัญลงไป