โบราณสถานในเมืองตาก

วันที่ออกอากาศ: 21 ตุลาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์ 

 

 

ตาก เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในหุบเขา ตัวเมืองอยู่บนเนินสูง มีแม่น้ำปิงไหลผ่านทางด้านหนึ่ง ด้านทางทิศตะวันตก มีเทือกเขาถนนธงชัยเป็นแนวต่อลงไปยังเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นเขตพรมแดนระหว่างประเทศไทย และพม่า มาตั้งแต่โบราณ

 

จากหลักฐานทางโบราณคดี พบการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในพื่นที่จังหวัดตาก นับย้อนไปได้ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้มีแหล่งน้ำบริบูรณ์จากแม่น้ำปิง และได้ทรัพยากรธรรมชาติจากป่าเขาเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์

 

ก่อนการเกิดรัฐสุโขทัยที่เป็นประชาคมของคนไทยนั้น มีตำนานที่กล่าวถึงความเป็นมาของเมืองตาก ว่าเคยเป็นประชาคมของคนเชื้อสายมอญมาก่อน โดยการกล่าวถึงพระนางจามเทวีของนครหริภุญชัย ซึ่งมีเชื้อสายมอญ

 

ทรงพบร่องรอยของกำแพงเมือง และซากเมือง บริเวณเมืองตากระหว่างเสด็จเดินเรือกลับจากละโว้ จึงทรงสถาปนาเมืองขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้ ในตำนานปรัมปราที่เล่าสืบทอดกันมาของกลุ่มเมืองต่างๆ ของจังหวัดตาก ล้วนมีการเชื่อมโยงการสร้างบ้านสร้างเมือง เข้ากับพระนามจามเทวีทั้งสิ้น

 

เมืองตากมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางเดินทัพ และการรบทัพจับศึกต่างๆ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนถึงต้นรัตนโกสินทร์ เดิมทีตัวเมืองตากตั้งอยู่บริเวณอำเภอบ้านตากปัจจุบัน โดยมีพระธาตุเจดีย์คือ วัดพระบรมธาตุ เป็นศูนย์กลางของเมือง

 

บริเวณบ้านตากนี้เป็นเมืองตั้งอยู่บนที่สูงมีดอย และภูเขาลูกเล็กๆ โดยรอบ จึงมีชัยภูมิที่ดี เหมาะแก่การป้องกันการโจมตีของข้าศึกศัตรู แต่ต่อมาได้มีการย้ายทำเลที่ตั้งตัวเมืองอยู่หลายครั้ง อันเนื่องมาจากความห่างไกลจากแหล่งน้ำ

 

ในรัชกาลพระมหาธรรมราชา สมัยอยุธยา ทรงย้ายตัวเมืองมาที่บริเวณสบวัง ซึ่งเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำปิงและแม่น้ำวัง เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายกองทัพ และขนส่งสินค้า

 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 หลังสิ้นสุดสถานการณ์การรบทัพกับพม่า ได้ย้ายตัวเมืองมาอยู่บริเวณบ้านระแหงริมแม่น้ำปิง เพื่อความสะดวกในการขนส่งสินค้า และการคมนาคมติดต่อกับหัวเมืองทางตอนล่าง ซึ่งในคำให้การชาวกรุงเก่า กล่าวว่าบ้านระแหง แขวงเมืองตาก เป็นจุดรวบรวมสินค้าจากป่าสำหรับส่งไปกรุงศรีอยุธยา จึงเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในสมัยนั้น ซึ่งยังคงเป็นที่ตั้งของเมืองตากในปัจจุบันด้วย

 

โบราณสถานต่างๆ ในเมืองตาก มีความหลากหลายทางศิลปกรรมที่ปะปนกันอยู่ ตั้งแต่ศิลปะแบบมอญพม่า ต่อมายังสมัยสุโขทัย อยุธยา จนถึงรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ ยังพบศิลปะแบบล้านนาที่เกิดขึ้นในสมัยหลัง

 

เนื่องจากสมัยอยุธยาตอนปลาย จนถึงสมัยธนบุรี มีความพยายามกวาดต้อนผู้คนจากล้านนา ลงมาอาศัยในบริเวณภาคกลางตอนบน และภาคเหนือตอนล่าง เพื่อไม่ให้ล้านนาเป็นจุดสนใจของพม่าอีก ดังนั้น ธรรมเนียมการสร้างวัดวาอาราม และสถูปเจดีย์ในเมืองตาก จึงมีทั้งลักษณะแบบอยุธยา แบบล้านนา หรือแบบมอญพม่ากระจายอยู่ทั่วเมือง

 

เมืองตากมีโบราณสถานที่มีความน่าสนใจทางศิลปะอยู่หลายแห่ง ทั้งที่ปัจจุบันกลายเป็นวัดร้างไปแล้ว และวัดที่ยังคงมีสถานะสืบมาจนถึงปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น

 

วัดบรมธาตุ ซึ่งเป็นวัดศูนย์กลางของตัวเมืองเดิม

 

วัดมณีบรรพต ที่มีรูปแบบศิลปะของอยุธยาต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงประจำจังหวัดตาก

 

วัดเขาแก้ว ที่กลายเป็นวัดร้าง แต่มีความสำคัญในพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ว่าเสด็จมาอธิษฐานเสี่ยงบารมีเมื่อครั้งรับราชการที่เมืองตาก ต่อมาเมื่อปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว ก็ทรงพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงสร้างเสนาอาสนะตามแบบศิลปะปลายอยุธยาที่วัดแห่งนี้

 

นอกจากนี้ ยังมีเจดีย์ยุทธหัตถีเมืองตาก ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทย รวมถึงศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเป็นที่สักการะของคนชาวเมืองตาก