ไทลื้อ

วันที่ออกอากาศ: 19 มกราคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

ไทลื้อ หรือ ไตลื้อ คือกลุ่มชาติพันธุ์ ไท หรือ ไต ถิ่นฐานเดิม ซึ่งได้แตกแขนงมากมายและอพยพไปตามพื้นที่ต่างๆ บนแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการสันนิษฐานว่าถิ่นฐานโบราณดั่งเดิมของชาวไทน่าจะอยู่ในบริเวณมณฑลทางตอนใต้ของจีนซึ่งมีทั้งลักษณะเป็นภูเขาสูงและเป็นที่ราบ ซึ่งมีประชาคมของชุมชนของชาวไทกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป 

 

ชาวไทลื้อมีวัฒนธรรมร่วมกับคนไทยที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางใต้ลงมา ตั้งแต่ภาคเหนือของไทยลงมาถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งผู้ปกครองเมืองนับถือพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคติชาวไทลื้อในมณฑลสิบสองปันนาที่รับพุทธศาสนาไปเป็นศาสนาหลัก โดยได้ประสานกลมกลืนร่วมกับการนับถือผี วิญญาณในธรรมชาติ บรรพบุรุษ

 

ทำให้เห็นว่ารากฐานทางวัฒนธรรมของชาวไทลื้อมีลักษณะใกล้เคียงกับคนไทยกลุ่มอื่นๆ ที่มีพุทธศาสนาเป็นพื้นฐาน ดังนั้นเมื่อเกิดการอพยพของชาวไทลื้อเข้ามาในดินแดนของชาวไทยกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะในภาคเหนือจึงไม่เป็นอุปสรรคหรือมีความแปลกแยกใดๆ ต่อการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม 

 

ในประเทศไทย น่าน ถือเป็นจังหวัดที่เราสามารถมองเห็นวัฒนธรรมไทลื้อได้เด่นชัด ทั้งการแต่งกาย อาหารการกิน สถาปัตยกรรม จิตรกรรมฝาผนัง จนกลายเป็นแหล่งรวบรวมวัฒนธรรมไทลื้อที่สำคัญ

 

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมไทลื้อหรือไตลื้อในเขตจังหวัดน่านเพิ่งเริ่มปรากฏให้เห็นชัดขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 23-24 ซึ่งตรงกับสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หลังจากไทยได้ขับไล่พม่าออกไปจากล้านนา เชียงแสน และบริเวณภาคเหนือ เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ ซึ่งเป็นเจ้าเมืองน่านได้สวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ

 

รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชดำริให้เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญไปกวาดต้อนผู้คนชาวไทลื้อในเขตสิบสองปันนาลงมาตั้งรกรากในเขตเมืองน่าน เพื่อแก้ปัญหาจำนวนประชากรของเมือง จึงปรากฏวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีแบบไทลื้อในจังหวัดน่านและจังหวัดใกล้เคียงของไทยมาจนถึงปัจจุบัน

 

ด้วยเหตุนี้ชาวไทลื้อจึงกลายเป็นคนพื้นถิ่นของเมืองน่าน และวัฒนธรรมของชาวไทลื้อได้กลายเป็นวัฒนธรรมหลักของเมืองน่าน

 

ศิลปวัฒนธรรมไทลื้อที่สำคัญๆ ในจังหวัดน่าน ได้แก่ วัดหนองบัว และวัดหนองแดง มีสถาปัตยกรรมและภาพจิตรกรรมไทลื้อที่หาดูได้ยาก ปัจจุบันกรมศิลปากรเข้าไปอนุรักษ์ไว้ ภาพจิตรกรรมของวัดภูมินทร์ ซึ่งมีภาพจิตรกรรมที่โด่งดัง เรียกว่า กระซิบรักบรรลือโลก

 

นอกจากนี้ ผ้าทอลายน้ำไหล หรือซิ่นน้ำไหล ซิ่นขาก่าน ซิ่นม่าน ของชาวไทลื้อยังได้สร้างชื่อเสียงให้กับเมืองน่าน และกลายเป็นชุดพื้นเมืองประจำจังหวัด ผู้คนนิยมแต่งกายในงานบุญ หรือโอกาสงานสำคัญ

 

ปัจจุบันการแต่งกายแบบไทลื้อยังแพร่หลายไปในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แพร่ ซึ่งเรียกเหมารวมการแต่งกายแบบไทลื้อนี้ไปว่า การแต่งกายแบบล้านนา 

 

นับได้ว่าเมืองน่านเป็นจังหวัดหนึ่งที่ ชาวไทลื้อ หรือ ไตลื้อ กลุ่มชนชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลไทยอาศัยอยู่มาก จึงมีวัฒนธรรมประเพณีที่น่าสนใจ มีการรักษาและสืบทอดขนบประเพณีของตน ทั้งเรื่องการแต่งกาย พิธีกรรม มาจนถึงทุกวันนี้