150 ปี ปฐมบรมราชินีนาถ

วันที่ออกอากาศ: 12 มกราคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ในปีพุทธศักราช 2556 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ประกาศสดุดีพระเกียรติคุณยกย่องให้ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง เป็นบุคคลสำคัญของโลก

 

และในปีพุทธศักราช 2557 รัฐบาลไทยประกาศให้เป็นปีฉลอง 150 ปี พระบรมราชสมภพ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา-บรมราชินีนาถฯ สืบเนื่องจากการประกอบพระราชกรณียกิจที่เป็นคณูปการเอนกอนันต์ต่อบ้านเมือง จึงถือเป็นปีแห่งการฉลอง 150 ปี ปฐมบรมราชินีนาถ

พระบรมราชินีนาถ คือ สมเด็จพระราชินีที่ได้รับการโปรดแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนองค์พระมหากษัตริย์ เกิดขึ้นครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2440 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปเป็นครั้งแรก ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระนามเดิมของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

 

ซึ่งในประวัติศาสตร์ไทยมีประกาศพระราชโองการแต่งตั้งพระบรมราชินีนาถเพียง 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงดำรงตำแหน่งผู้รักษาราชการแทนพระองค์อยู่นานร่วมปี ทรงมีส่วนร่วมในกระบวนการปรึกษาราชการแผ่นดิน ทรงออกความคิดเห็น ตลอดจนทรงตัดสินใจการบริหารกิจการบ้านเมืองตามบทบาทที่ได้รับอย่างเหมาะสม

 

หากเป็นกรณีเรื่องสำคัญมากๆ ก็ทรงปรึกษาคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก่อน หากตัดสินใจกันไม่ได้จึงมีพระราชโทรเลขไปยุโรปเพื่อขอพระราชดำริในเรื่องนั้น ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเวลานั้นดำเนินการได้อย่างลุล่วงด้วยดี 

 

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ยังทรงมีบทบาทในการเป็นประมุขฝ่ายใน มีหน้าที่ดูแลพระบรมวงศานุวงศ์เปรียบเสมือนหัวหน้าครอบครัวในเขตพระราชฐานชั้นใน และมีบทบาทในการพัฒนาสังคมในฐานะผู้นำการพัฒนาสตรีสมัยใหม่ในยุคปฏิรูปบ้านเมืองให้ทันสมัย

 

เช่นในปีพุทธศักราช 2436 ในวิกฤตการณ์ รศ.112 ที่มีความขัดแย้งกับฝรั่งเศส การรบครั้งนั้นทำให้มีทหารและประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริจัดตั้งสภาอุณาโลมแดงตามลักษณะสภากาชาดสากล โดยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีเมื่อได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถแล้วทรงรับตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทยจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 

 

ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการพัฒนาสถานศึกษาในประเทศ แต่ทรงเน้นบทบาทในการพัฒนาโรงเรียนสำหรับสตรี ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ในการก่อตั้งโรงเรียนสตรีในช่วงปลายทศวรรษ 2440 ได้แก่ โรงเรียนบำรุงวิชา โรงเรียนราชินี โรงเรียนสุนันทาลัย (ต่อมาใช้ชื่อว่า โรงเรียนราชินีล่าง) ทรงรับพระราชภาระเป็นผู้จัดการโรงเรียนด้วยพระองค์เอง

 

ในส่วนภูมิภาคยังทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ให้กระทรวงธรรมการ กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งโรงเรียนสตรีในจังหวัดต่างๆ เช่น โรงเรียนราชินีบูรณะ จังหวัดนครปฐม โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ จังหวัดอยุธยา โรงเรียนวิเชียรมาตุ จังหวัดตรัง โรงเรียนสตรีราชินูทิศ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งถือเป็นโรงเรียนสตรีประจำจังหวัด

 

นอกจากนี้ ยังโปรดเกล้าให้สร้างโรงเรียนนางผดุงครรภ์และนางพยาบาลขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนราชแพทยทยาลัย ซึ่งปัจจุบันคือคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บริเวณโรงพยาบาลศิริราช ด้วยทรงเห็นความจำเป็นในสร้างบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข