การนำเสนอภาพแทนผู้หญิงกับการประกอบสร้างสังคมในงานพุทธศิลป์อีสาน

รองศาสตราจารย์ ดร.ปฐม หงษ์สุวรรณ

 

สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

 

การศึกษาเรื่องภาพแทนผู้หญิงกับการประกอบสร้างสังคมในงานพุทธศิลป์อีสานนี้ ผู้ศึกษาได้วิเคราะห์ภาพแทนผู้หญิงจากงานพุทธศิลป์ในชุมชนอีสาน ได้แก่ จิตรกรรมจากสิมวัดไชยศรีและวัดสระบัวแก้ว จ.ขอนแก่น ประติมากรรมพระยืน จ.มหาสารคาม หลวงพ่อพระใส จ.หนองคาย และสถาปัตยกรรมธรรมมาสน์สิงห์วัดศรีนวล จ.อุบลราชธานี รวมทั้งข้อมูลพุทธศิลป์อื่นๆ ที่ปรากฏอยู่ในชุมชนท้องถิ่นอีสานโดยได้นำมาใช้ประกอบในการเปรียบเทียบและเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เพื่อพิจารณาให้เห็นถึงบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่มีบทบาทความสำคัญต่อการนำเสนอภาพผู้หญิงในหลากรูปแบบหลายลักษณะ

 

จากการศึกษาพบว่า สังคมพุทธศาสนามีอิทธิพลต่อการให้นิยามความหมายของผู้หญิงซึ่งถูกประกอบสร้างให้เป็นผู้มีส่วนร่วมในชีวิตทางพระพุทธศาสนา อันเกิดจากการมองบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงที่มีต่อสังคมในแบบจารีตดั้งเดิม ซึ่งเคยเชื่อถือกันมาแต่อดีต ในขณะเดียวกันก็มีการนำเสนอให้เห็นว่า ผู้หญิงเป็นเพศกระแสรองในโลกทางพระพุทธศาสนาเนื่องด้วยอิทธิพลของแนวคิดแบบปิตาธิปไตยที่ได้เข้ามาครอบงำ จากการวิเคราะห์การประกอบสร้างสังคมผ่านภาพนำเสนอผู้หญิงในงานพุทธศิลป์อีสานยังพบว่า มีความสอดคล้องกับโครงสร้าง ค่านิยม และโลกทัศน์ทางสังคมที่มีลักษณะเป็นวิถีชีวิตวัฒนธรรมแบบชาวบ้าน อีกทั้งยังสามารถ สะท้อนให้เห็นอุดมการณ์ทางสังคมการเมืองได้อีกประการหนึ่ง ผลการศึกษาในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า งานพุทธศิลป์อีสานนั้นเป็นกลไกในการประกอบสร้างสังคม โดยใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองและช่วงชิงนิยามความหมายว่าด้วยผู้หญิงในวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งแสดงให้เห็นมิติความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหญิงชาย รวมทั้งความคิดทางโลกและทางจิตวิญญาณได้อย่างน่าสนใจ

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "โลกกับธรรม : ภูมิปัญญาความรู้ในงานพุทธศิลป์อีสาน" ระหว่างวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2561 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด จังหวัดขอนแก่น จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)