จารึกวัดพระธาตุพนม : สารัตถะและความสำคัญในประวัติศาสตร์ล้านช้าง

ดร.อธิราชย์ นันขันตี 

 

สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม

 

 

บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาจารึกวัดพระธาตุพนมในประเด็นสารัตถะและความสำคัญในประวัติศาสตร์ล้านช้าง ศึกษาจารึก จำนวน 26 แผ่น เป็น หลักจารึก จำนวน 5 แผ่น จารึกฐานพระพุทธรูป  จำนวน 15 องค์ จารึกลานโลหะ จำนวน 2 แผ่น จารึกแผ่นอิฐ จำนวน 3 แผ่น

 

ผลการศึกษาพบว่า จารึกวัดพระธาตุพนมมีอายุตั้งแต่ พ.ศ. 2046 – 2466 จารึกด้วยอักษรธรรมอีสาน และอักษรไทยน้อย สารัตถะที่พบ คือ การบูรณะพระธาตุพนม การอุทิศข้าโอกาส กิจกรรมทางศาสนา องค์ประกอบของจารึก คือ ผู้สร้างจารึก ได้แก่ กษัตริย์ล้านช้าง เจ้าเมืองศรีโคตรบูรณ์ เจ้าเมืองนครพนม เจ้าเมืองมุกดาหาร พระภิกษุ ขุนนาง ชาวบ้าน จุดมุ่งหมายของจารึก ได้แก่ การอุทิศให้ผู้ตาย สืบอายุ พระพุทธศาสนา เพื่อเสียเคราะห์ เพื่อบอกเรื่องราว

 

พระธาตุพนมมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ล้านช้าง คือ เริ่มจากยุคของ พระเจ้าโพธิสาลราช  กษัตริย์ลาวล้านช้าง (พ.ศ. 2063-2093) ได้บูรณะพระธาตุพนมและสร้างพระพุทธรูปประจำพระอุโบสถ  พระยานครหลวงพิชิตราชธานี เจ้าเมืองศรีโคตรบูรณ์ พ.ศ. 2157 ได้อุทิศข้าโอกาส พระครูโพนสะเม็ก  (พ.ศ. 2233-2335) ได้บูรณะพระธาตุพนม เจ้าอนุวงศ์ กษัตริย์ลาวล้านช้างเวียงจันทน์ พระบรมราชา (สุตตา) เจ้าเมืองนครพนม พระยาจันทสุริยวงศา (กิ่ง) เจ้าเมืองมุกดาหาร (พ.ศ. 2349-2356) ได้ร่วมกันสร้างถนนหน้าองค์พระธาตุ และสร้างอุโบสถ ในปัจจุบันชาวอำเภอธาตุพนม เชื่อว่าตนเองเป็นลูกหลานของข้าโอกาส ยังสืบทอด ฮีตคองข้าโอกาสอย่างเคร่งครัด จะประกอบพิธีถวายข้าวพีชภาคและบุญเสียค่าหัว เป็นประจำทุกปี โดยมีเจ้าเฮือนสามเป็นผีศักดิ์สิทธิ์คอยควบคุมทางสังคมแก่ข้าโอกาส

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "โลกกับธรรม : ภูมิปัญญาความรู้ในงานพุทธศิลป์อีสาน" ระหว่างวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2561 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด จังหวัดขอนแก่น จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)