ประวัติศาสตร์เมืองสกลนคร : ศึกษาจากศิลาจารึก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรชัย ชินบุตร

 

สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

 

 

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติและความเป็นมาของจังหวัดสกลนคร ผู้เขียนใช้หลักฐานจากศิลาจารึก จำนวน 5 หลักซึ่งยังมีร่องรอยเหลือเค้าให้เห็น ผลการศึกษาพบว่า จังหวัดสกลนครนั้นแต่เดิมตั้งอยู่บริเวณฝั่งหนองหาน(บริเวณวัดพระธาตุเชิงชุม) ที่เรียกว่าบ้านชระเลงและบ้านพะนุรพิเนา ซึ่งกลุ่มคนที่อยู่ตรงนี้คือกลุ่มขอม  ต่อมาเกิดฝนแล้งติดต่อกัน 7 ปี ประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนเขมรได้อพยพกลับไปยังบ้านเมืองของตนเอง เมื่อเขมรหมดอำนาจลง อาณาจักรล้านช้างได้สถาปนาตัวเองขึ้น และได้สร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นใหม่ เรียกว่า เมืองเชียงใหม่หนองหาน ต่อมาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก บ้านชระเลง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านธาตุเชิงชุมกลายเป็นบ้านร้าง รัชกาลที่ 1 จึงโปรดให้อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์พาไพร่พลมาอยู่ที่บริเวณบ้านธาตุเชิงชุม ซึ่งต่อมาเรียกว่า เมืองหนองหานหลวง และให้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่าเมืองสกลทวาปี และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ให้เปลี่ยนชื่อเมืองสกลทวาปีเป็นเมืองสกลนครตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน  การศึกษาเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของเมืองสกลนครในอดีตที่มีผู้คนหลายกลุ่มได้อาศัยอยู่ในแถบนี้ และมีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานซึ่งยังคงปรากฏหลักฐานให้คนรุ่นปัจจุบันได้รับรู้ประวัติและความเป็นมาของจังหวัดสกลนครได้เป็นอย่างดี

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "โลกกับธรรม : ภูมิปัญญาความรู้ในงานพุทธศิลป์อีสาน" ระหว่างวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2561 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด จังหวัดขอนแก่น จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)