มนต์และยันต์ในลานก้อมวัดหนองคู : บทบาทหน้าที่ของภาษาและความหมายทางวัฒนธรรม

ดร.สุทธินันท์  ศรีอ่อน

 

สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

 

บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษามนต์-คาถาในเอกสารลานก้อมวัดหนองคู ต.โนนโหนน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นเอกสารลานก้อมผูกเดียวเท่าที่ปรากฏในเอกสารสำรวจข้อมูลหนังสือใบลานจังหวัดอุบลราชธานี (พ.ศ. 2545) ที่รวมเอาทั้งคาถาและยันต์ไว้ด้วยกัน

 

ผลการศึกษาพบว่า เอกสารลานก้อมวัดหนองคูเป็นเอกสารลานก้อมจำนวนน้อยที่จารมนต์-คาถาไว้ จากข้อมูลมนต์และคาถาทั้งหมดที่พบในลานก้อมทั้ง 2 ผูก แสดงว่า 1) ภาษาบาลีมีบทบาทหน้าที่สร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับมนต์-คาถาในสังคมอีสานส่วนหนึ่ง  ภาษาบาลีสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทหน้าที่ของภาษาที่เชื่อมอยู่กับความศักดิ์สิทธิ์ ภาษาบาลีทั้งที่แปลความได้และแปลความไม่ได้ต่างก็มีแก่นของความศักดิ์สิทธิ์ซ่อนอยู่  2) มนต์-คาถาในลานก้อมที่เป็นภาษาบาลีมีหน้าที่สำคัญทั้งในแง่ของการเสกเป่าและลงเลขยันต์สำหรับเสริมสร้างสิริมงคล กำลังใจ ป้องกันและแก้ไขสิ่งเลวร้าย 3) มนต์และยันต์ในลานก้อมที่เป็นภาษาบาลีสะท้อนให้เห็นระบบความเชื่อของชุมชนที่มีพระพุทธศาสนาเป็นแกนหลัก และ 4) เนื้อหาของมนต์และยันต์ในลานก้อมวัดโนนคูณเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นวัฒนธรรม ระบบความเชื่อ ธรรมชาติ  ความจำเป็นพื้นฐานที่สัมพันธ์กับมนต์คาถา ยันต์ และศาสนาพุทธแบบชาวบ้านเฉพาะถิ่นอีสาน ซึ่งต่างมีความเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตของผู้คนในอีสานและสะท้อนถึงมุมมองทางวัฒนธรรมอีสานได้ส่วนหนึ่ง

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "โลกกับธรรม : ภูมิปัญญาความรู้ในงานพุทธศิลป์อีสาน" ระหว่างวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2561 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด จังหวัดขอนแก่น จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)