วิถีนาคา ภูมิปัญญาและโลกธรรมท้องถิ่นในพื้นที่ชุ่มน้ำโลก

ดร.แก้วตา จันทรนุสรณ์

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

 

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความหมายทางสังคมของเรื่องเล่าและการเล่าเรื่องพลังอำนาจของพญานาคผู้รักษาแหล่งน้ำสำคัญในจังหวัดบึงกาฬ  คือ หนองกุดทิง และ บึงโขงหลง ซึ่งภายหลังกลายเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำในเขตลุ่มน้ำโขงตอนล่างที่มีความสำคัญระดับสากล โดยอาศัยแนวคิดนิเวศวัฒนธรรม  ภูมิปัญญาท้องถิ่น และประวัติศาสตร์ความทรงจำ เป็นเครื่องมือในการวิจัยเชิงคุณภาพและวิเคราะห์ตัวบทหลากประเภท

 

การศึกษาพบว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับพญานาคในพื้นที่ชุ่มน้ำหนองกุดทิงและบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ สัมพันธ์กับมโนทัศน์เรื่องความรัก  ความปรารถนา ความโลภ  ความขัดแย้ง  การยึดมั่นในสัจจะ การอุปถัมภ์ศาสนา การเกื้อกูลมนุษย์ผู้มีคุณธรรม รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างภพชาติ  แม้ว่าปัจจุบันบริบททางเศรษฐกิจสังคมได้เข้าสู่ยุคทุนนิยมเสรี แต่กลุ่มคนต่างๆ ในท้องถิ่นได้นำเรื่องเล่าพญานาคมาตีความและเล่าเรื่องใหม่ให้ทรงอำนาจยิ่งขึ้นหลากหลายรูปแบบ ในฐานะมรดกภูมิปัญญาความรู้ด้านวัฒนธรรมและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "โลกกับธรรม : ภูมิปัญญาความรู้ในงานพุทธศิลป์อีสาน" ระหว่างวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2561 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด จังหวัดขอนแก่น จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)