ศิลปะการแทงหยวกภาคอีสาน : ความงาม ศรัทธาและภูมิปัญญาที่ยังคงอยู่

รองศาสตราจารย์วีณา วีสเพ็ญ

 

สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

 

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคงอยู่ของศิลปะการแทงหยวกภาคอีสาน  ด้านรูปแบบการสร้างสรรค์ จุดมุ่งหมายและภูมิปัญญาที่ปรากฏด้านต่างๆ โดยศึกษาข้อมูลจาก จังหวัดอุบลราชธานีเป็นหลัก

 

ผลการศึกษาพบว่า การใช้กาบกล้วยหรือหยวกกล้วยมีมาคู่กับการประกอบพิธีเกี่ยวกับชีวิตในช่วงต่างๆของสังคมไทยและพัฒนาทั้งรูปแบบและจุดประสงค์มาตามกาลเวลาและใช้หลายโอกาส ทั้งงานมงคลและอวมงคล  การใช้กาบกล้วยมาสร้างเป็นลวดลายต่างๆโดยใช้มีดมีศัพท์เรียกว่า “การแทงหยวก” มีการจัดวางลวดลาย องค์ประกอบทางศิลปะและรูปทรงต่างๆตามฝีมือเชิงช่างในแต่ละท้องถิ่น โดยมีจุดประสงค์ที่มีความเชื่อทางพุทธศาสนาเป็นแกนสำคัญ  ศิลปะการแทงหยวกเป็นสิ่งที่มีคู่กับสังคมอีสานมายาวนาน และยังคงอยู่หลายจังหวัด แต่ได้ขาดหายไปจากการรับรู้ของสังคมภายนอก จังหวัดอุบลราชธานีมีช่างแทงหยวกสืบเนื่องมาแต่อดีตคือ แทงหยวกประดับจิตกาธานหรือเมรุเผาศพ แทงหยวกประกอบเป็นปราสาทผึ้งในงานออกพรรษา แทงหยวกประกอบเป็นหอปราสาทเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ญาติผู้ล่วงลับในงานศพและอุทิศส่วนกุศลถึงผู้ญาติที่เสียชีวิตเพื่อให้ผู้ตายมีที่อยู่อันสวยงาม (หอปราสาทคือเมรุเผาศพหรือเปล่า?) ลวดลายการแทงหยวกมีลายฟันหนึ่ง ฟันสาม ฟันห้า ลายนกน้อยและลายที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองเช่นลายตีนเต่า ลายกาบเยือง ลายก้ามปูหรือลายเครือเถาต่างๆ ขนาดและรูปทรงของปราสาทที่ใช้การแทงหยวกประดับ จะแตกต่างกันไปแต่ละชุมชน การเรียนรู้และสืบต่อการแทงหยวกเป็นการเรียนรู้โดยธรรมชาติจากช่างใหญ่มาสู่คนในชุมชน ปัจจุบันบ้านโพนทราย ตำบลบ้านไทย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ได้มีการรื้อฟื้นและสืบทอดศิลปะการแทงหยวกแก่ผู้ใหญ่และเยาวชนโดยผ่านการเรียนการสอนในระบบโรงเรียนและการอบรม โดยช่างในชุมชนยังคงทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดและเรื่องการแทงหยวกนี้  ได้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างขึ้นว่า สิ่งนี้ยังคงมีอยู่ในภาคอีสานมิได้เลือนหายไป แต่อย่างใด เพียงแต่การรับรู้ของสังคมภายนอกยังน้อยอยู่เท่านั้น

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "โลกกับธรรม : ภูมิปัญญาความรู้ในงานพุทธศิลป์อีสาน" ระหว่างวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2561 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด จังหวัดขอนแก่น จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)