เกณฑ์การตัดสินความงามของฮูปแต้มในพุทธปรัชญา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หอมหวล บัวระภา

 

สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

 

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดความงามของฮูปแต้มและเกณฑ์การตัดสินความงามของฮูปแต้มในพุทธปรัชญา เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสืบค้นพุทธปรัชญาจากเอกสาร และเก็บข้อมูลฮูปแต้มในสิมอีสาน พร้อมกับสัมภาษณ์เชิงลึกจากนักวิชาการ และนำข้อมูลจากทุกส่วนมาศึกษาวิเคราะห์  นำเสนอข้อมูลด้วยวิธีพรรณนาวิเคราะห์ (analytical descriptive) ผลการศึกษาพบว่า ฮูปแต้ม หมายถึง ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา ความเชื่อตามประเพณี วิถีชีวิตของชาวบ้านทุกระดับที่ปรากฏอยู่ในสิม วิหาร หอไตร ฯลฯ ความงามของฮูปแต้มคือ สีสัน ทรวดทรวง ขนาด เส้น แสง และภาษาที่ประกอบเป็นแนวคิดเพื่อเป็นสื่อให้ผู้ชมเข้าถึงหลักธรรม และมีอำนาจที่ก่อให้เกิดความรู้สึกปรารถนาน่าใคร่ น่าพอใจ รัก ต้องการ ยินดีชื่นชม ขึ้นในจิตใจของผู้คน  เกณฑ์การตัดสินความงามของฮูปแต้มในพุทธปรัชญา มี 2 ลักษณะคือ 1.ความงามของธรรม เป็นความงามที่เป็นวัตถุวิสัย เป็นสิ่งที่มีอยู่ด้วยตนเองไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินของคน 2. ความงามของคน และธรรมชาติ สัตว์ เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกและการตัดสินใจของคนแต่ละคน เป็นความงามที่เป็นอัตวิสัย ความงามของฮูปแต้มในทางพุทธปรัชญา จัดอยู่ในประเภทที่ 2 คือ เป็นความงามที่ขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากเพทนาการ แต่สามารถพัฒนาและพัฒนาเข้าถึงเป็นเป็นความงามประเภทที่ 1 ได้

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "โลกกับธรรม : ภูมิปัญญาความรู้ในงานพุทธศิลป์อีสาน" ระหว่างวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2561 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด จังหวัดขอนแก่น จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)