เอกสารใบลานล้านช้างก่อนและหลังการสร้างบ้านแปงเมืองภาคอีสาน

ดร.บุญชู  ภูศรี

 

สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

 

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจเอกสารใบลานล้านช้างก่อนและหลังการสร้างบ้านแปงเมืองของภาคอีสาน เพื่อเปรียบเทียบรูปลักษณ์อักษรและรูปแบบการบันทึกกับเอกสารที่พบในช่วงเดียวกันในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสันนิษฐานการเข้ามาของเอกสารล้านช้าง

 

ผลการศึกษาพบว่ามีเอกสารใบลานก่อน พ.ศ. 2256 จำนวน 8 ฉบับ เอกสารใบลานช่วงระหว่าง พ.ศ. 2157-2308 พบจำนวน 8 ฉบับ และเอกสารหลัง พ.ศ. 2308 ที่มีพระนามของกษัตริย์ล้านช้าง พบเพียง 1 พระนาม คือ สมเด็จบรมบพิตรสีหตนุราชาธิปติภูมินทราธิราชเจ้า (เจ้าอนุวงศ์) จำนวน 4 ฉบับ โดยพบที่จังหวัดอุบลราชธานี 8 ฉบับ ยโสธร 3 ฉบับ ร้อยเอ็ด 3 ฉบับ มหาสารคาม 2 ฉบับ สกลนคร 1 ฉบับ และศรีสะเกษ 1 ฉบับ ส่วนเอกสารใบลานที่มีพระนามของเจ้าอนุวงศ์พบที่วัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย) จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 4 ฉบับ การศึกษาเปรียบเทียบอักษรและรูปแบบการบันทึกมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับเอกสารใบลานในช่วงเดียวกันที่ปรากฏในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งสันนิษฐานแหล่งที่มาหลายทางด้วยกัน คือ 1) เข้ามาจากการย้ายถิ่นฐานจากอาณาจักรล้านช้างมาตั้งบ้านแปงเมืองในภาคอีสาน 2) เข้ามาจากการทำสงครามช่วงเจ้าอนุวงศ์ ส่วนเส้นทางที่เข้ามาสันนิษฐานว่า 1) เข้ามาทางเมืองจำปาศักดิ์ โดยเมืองจำปาศักดิ์นำเอกสารใบลานส่วนหนึ่งมาจากหลวงพระบาง แล้วเคลื่อนย้ายมาพร้อมกับผู้คนอพยพเข้าสู่ภาคอีสาน 2) เข้ามาในช่วงพระวอพระตา และพระโสมพะมิตรย้ายจากเวียงจันทน์ มาตั้งถิ่นฐานในภาคอีสาน และ 3) เข้ามาภายหลังจากกรณีเจ้าอนุวงศ์ ระหว่างปี พ.ศ. 2369-2371

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "โลกกับธรรม : ภูมิปัญญาความรู้ในงานพุทธศิลป์อีสาน" ระหว่างวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2561 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด จังหวัดขอนแก่น จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)