“โลก-ธรรม” ในกาพย์เซิ้งบั้งไฟผาแดงนางไอ่ : “ทุกข์-สุข” และการสืบสานภูมิปัญญาด้านภาษาและวัฒนธรรม

ดร.อิศเรศ ดลเพ็ญ

 

สาขาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

 

เรื่องผาแดงนางไอ่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนแถบจังหวัดสกลนคร จังหวัดอุดรธานี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดมหาสารคาม พื้นที่เหล่านี้มีชื่อบ้านและสถานที่ต่างๆ ที่มีชื่อเรียกสัมพันธ์กับเรื่องผาแดงนางไอ่ เรื่องผาแดงนางไอ่เกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม วรรณกรรม และวิถีชีวิตของคนอีสานมาช้านาน จึงน่าสนใจศึกษาว่า วรรณกรรมเรื่องนี้มีสาระธรรมอะไรบ้างที่แสดงให้เห็น “โลก-ธรรม” “ทุกข์-สุข” อันจะสามารถนำไปเป็นปรัชญาเพื่อพิจารณาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต และคนอีสานมีการสืบสานภูมิปัญญาด้านภาษาและวัฒนธรรมอันเนื่องด้วยเรื่องผาแดงนางไอ่ผ่านประเพณีงานบุญบั้งไฟอย่างไร การศึกษาครั้งนี้เก็บข้อมูลจากวรรณกรรมกาพย์เซิ้งบั้งไฟผาแดงนางไอ่ แต่งโดย ทองพูล พรสวัสดิ์ และพงษ์ไทย เพชรดี (2545) และจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลการเซิ้งบั้งไฟและประเพณีบุญบั้งไฟในจังหวัดขอนแก่น ผลการศึกษาพบว่า วรรณกรรมกาพย์เซิ้งบั้งไฟผาแดงนางไอ่แสดงให้เห็นสาระทั้งวิถีโลกและวิถีธรรม ด้านวิถีโลก ชีวิตคือ “ทุกข์” และ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น โลกนี้เป็นอนิจจัง ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอน เรื่องผาแดงนางไอ่พบ “ความทุกข์” ทั้ง 8 จำพวกที่กล่าวไว้ในพุทธสูตร คือ ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ อยากได้ไม่ได้เป็นทุกข์ จากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ ความเจ็บแค้นเป็นทุกข์ และสังขารเป็นทุกข์ ด้านวิถีธรรม พบว่า ความดีสูงสุดของมนุษย์ที่พึงกระทำให้ถึงระดับสูงสุดมี 4 ประการ คือ ความสุข ความสมบูรณ์ หน้าที่ และความปรารถนาดี ผู้วิจัยยังพบว่า “ความสุข” ซึ่งเป็นความดีสูงสุดของมนุษย์และเป็นจริยธรรมของโลกนั้น ส่วนใหญ่มิใช่ความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขจอมปลอมในแบบยุคสมัยวัตถุนิยม และจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนาม ผู้วิจัยพบว่า คนอีสานมีวิธีการสืบสานภูมิปัญญาด้านภาษาและวัฒนธรรมโดยการสอดแทรกองค์ความรู้เรื่องผาแดงนางไอ่ในประเพณีบุญบั้งไฟ ทั้งการประกวดขบวนแห่บั้งไฟ การสาธิตและแข่งขันการเซิ้งบั้งไฟ กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นการสืบสานและถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมสู่คนรุ่นหลังให้ตระหนักและภาคภูมิใจในวัฒนธรรมรากเหง้าของตนเองได้เป็นอย่างดี

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "โลกกับธรรม : ภูมิปัญญาความรู้ในงานพุทธศิลป์อีสาน" ระหว่างวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2561 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด จังหวัดขอนแก่น จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)