กษัตริย์ร้าย: การตรวจสอบของระบบสังคมอุดมคติ

แปลและสรุปความจาก Betty Nguyen. “Bad Buddhist Kings: An Examination of the Ideal Social Order” in Rian Thai. Vol.4 /2011.pp 27-45.

 

 

ในวรรณกรรมพุทธทำนายของภาคเหนือซึ่งมีอายุในระหว่างศตวรรษที่ 19 ถึงกลางศตวรรษที่ 20 แสดงให้เห็นด้านมืดของสังคมที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ภัยพิบัติต่างที่เกิดจากน้ำมือของผีร้าย มนุษย์ หรือแม้กระทั่งกษัตริย์ ภาพของไดแอสโทเปียหรือสังคมอันวุ่นวายซึ่งเป็นภาพตรงกันข้ามกับภาพของยูโทเปียหรือสังคมอุดมคติ  เป็นการฉายภาพที่ตรงกันข้ามกับสังคมยุคพระศรีอาริย์  ที่มนุษย์ได้รับการปกครองให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขโดยธรรมิกราชา

 

วรรณคดีพุทธศาสนาชี้ให้เห็นความสำคัญของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรมต่อความสุขและชะตาของชนชั้นใต้ปกครอง กษัตริย์ต้องดำรงตนอยู่ภายใต้ธรรมของกษัตริย์  อย่างไรก็ตามใน “พุทธทำนาย” ของภาคเหนือซึ่งมีแก่นเรื่องหลักแสดงการบอกเล่าชีวิตของพุทธศาสนาหลังการปรินิพพานของพระพุทธสมณโคดม จนกระทั่งสิ้นอายุขัยในอีก 5,000 ปี ได้กล่าวถึงกษัตริย์ที่เลวทราม และผลร้ายที่เกิดขึ้นแก่บ้านเมืองเพราะกษัตริย์เลวทราม เพื่ออธิบายมโนทัศน์ของกษัตริย์ในอุดมคติของศาสนาพุทธ

 

การใช้อำนาจทางการเมืองของพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมอุษาคเนย์  การใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์มีความชอบธรรมในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการลงโทษทัณฑ์  การเรียกผลประโยชน์จากประชาชน การขยายดินแดน  โดยมีพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าต่างด้าวท้าวต่างแดน ขุนนางเป็นเครื่องรองรับการใช้อำนาจทางการเมืองให้ลุล่วง ในสมัยก่อนกษัตริย์ในอุษาคเนย์ ดำรงเดชานุภาพในฐานะ “เจ้าชีวิต” สังเกตได้ว่าบทบาทของกษัตริย์สามารถจำแนกได้เป็น 2 บทบาทใหญ่ ได้แก่ บทบาท “ผู้ให้/ผู้หยิบยื่น” อันได้แก่ การหยิบยื่นโทษให้แก่ราษฎร  และบทบาทของ “ผู้รับหรือผู้สกัดเอา” อันได้แก่ ผู้รับประโยชน์ต่าง ๆ จากราษฎร  

 

ในพุทธทำนาย ได้กล่าวถึง การลงโทษสถานหนักของพระมหากษัตริย์ว่าเป็น 1 ใน 10 ทุกข์ภัยที่จะเกิดขึ้นแก่เมือง อันแสดงให้เห็นสัญญาณของความเสื่อมตามความเชื่อที่ว่าศาสนาพุทธจะสิ้นไป  
ทุกข์ภัย 10 ประการ ได้แก่

 

1. ทุกข์
2. เกิดกลียุคแก่มนุษย์และสัตว์
3. ภาวะอดอยาก
4. กษัตริย์ เจ้าผู้ครองนคร ชันชั้นสูงจะลงโทษหนัก
5. ถนนที่ทอดยาวจะถูกตัดในอนาคต
6. พ่อแม่ สามีภรรยา ลูก จะแยกขาดจากกันในอนาคต
7. บ้านจะถูกละทิ้ง
8. คนแก่จะหนุ่มสาวจะกลับสลับบทบาทกัน พวกเขาจะตายเพราะทุกข์ภัย 10 ประการ
9. ผู้ชายและผู้หญิงจะมีหัวใจของผีร้าย จะไม่ประพฤติตามธรรม และด้วยเหตุนี้พวกเขาจะอาเจียนเป็นเลือดและตายในที่สุด
10. คนผู้ไม่รู้จักธรรมะ จะไม่เคารพพ่อแม่ ครูอาจารย์ ผู้เฒ่าผู้แก่ สุดท้ายคนพวกนี้จะตกนรกอเวจี

 

จากภัยทั้ง 10 ประการจะเห็นได้ว่าการลงโทษอันรุนแรงของกษัตริย์เป็นอันตรายของประชาชน เทียบเคียงได้กับภัยอื่นๆ อีก 9 ประการที่ได้กล่าวไว้ โดยนัยนี้กษัตริย์เปรียบเหมือนวิญญาณร้ายที่ไม่มีใครคุมขังได้  ภาพของกษัตริย์ที่ลงโทษประชาชนอย่างโหดร้ายจึงตรงกันข้ามกับกษัตริย์ผู้เมตตาในพระพุทธศาสนาอย่างพระเจ้าอโศกมหาราชผู้เคยเป็นกษัตริย์อันโหดร้ายมาก่อน  แต่กลับกลายเป็นผู้มีเมตตาเมื่อนับถือพุทธศาสนา
    
ส่วนบทบาทของ “ผู้รับหรือผู้สกัดเอา” อันตรงกันข้ามกับบทบาทแรกนั้น  เห็นได้ชัดจากการเรียกร้องเอา แรงงาน ภาษี เด็ก ผู้หญิง ทรัพย์สินในรูปแบบของค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้รัฐ  การเรียกเก็บในที่นี้จึงมีความหมายอันพร่าเลือนกับการ “ขู่กรรโชก/ขโมย/ ปรับสินไหม” หรือจะใช้คำว่า “รีดเลือด” ก็ไม่ผิดนัก

 

ในตำนานพระเจ้าเลียบโลก และตำนานพระยาอินได้เปรียบเทียบการเก็บค่าปรับของกษัตริย์และชนชั้นสูงที่กระทำต่อราษฎรว่า “เสมือนหนึ่งเทน้ำใส่เหยือกที่เต็มไปด้วยน้ำแล้ว” เป็นชุดความเปรียบที่แสดงให้เห็นว่าทรัพย์ของราษฎร์ซึ่งก็คือน้ำ ถูกถ่ายเทหรืออีกนัยหนึ่งคือ “ถูกรีดเลือด” ให้แก่พระมหากษัตริย์ผู้มีทรัพย์เต็มเปี่ยมอันสื่อความแทนด้วยเหยือกอันมีน้ำเต็มแล้ว  อันแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะมีทรัพย์สินมากมายเพียงใด กษัตริย์ที่เลวทรามก็ยังคงต้องการทรัพย์จากราษฎรอยู่ดี

 

ในตำนานพระเจ้าเลียบโลก ปรากฏบทลงโทษของกษัตริย์ที่เลวทรามด้วยการเกิดสงครามกลางเมือง  สถานภาพของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนแก่ คนหนุ่มสาว ภรรยา พระภิกษุเกิดความกำกวมสับสน อันมีนัยแสดงให้เห็นว่าสถานภาพของพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในโครงสร้างของสังคมย่อมเกิดความสับสนและหมดอำนาจไปโดยปริยายเช่นกัน

 

นอกเหนือจากโครงสร้างของสังคมมนุษย์แล้ว กษัตริย์ผู้เลวทรามยังทำให้เกิดผลร้ายแก่โครงสร้างของสามโลก คือสวรรค์- ดินแดนของเทวดาผู้ประกอบคุณความดี มนุษย์ และนรกอันเป็นที่อยู่ของเปรตผู้ทำความชั่ว  เมื่อพระมหากษัตริย์ประพฤติตัวเลวทราม เทวดาที่อยู่บนสวรรค์จะพิโรธและบันดาลให้ฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาล  พืชพันธุ์ธัญญาหารไม่ให้ดอกออกผล  

 

การกล่าวถึงกษัตริย์ผู้เลวทรามในวรรณคดีพุทธทำนายเพื่อขับเน้นให้เห็นความสำคัญของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรม การพรรณนาภาพของสังคมที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายภายใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์เลวทรามเป็นการขู่ให้พระมหากษัตริย์ เห็นโทษของการประพฤติผิดหลักธรรมของศาสนาอันเป็นกรอบควบคุมอำนาจของพระมหากษัตริย์

 

(ตีพิมพ์ใน สารไทยศึกษา ปีที่ 18 ฉบับที่ 2 มกราคม – มีนาคม 2560)