ความสำคัญของศาลพระภูมิในสังคมและวัฒนธรรมไทย

คอลัมน์ถามตอบปัญหาไทยศึกษาประจำฉบับนี้ได้รับคำถามจากนักวิจัยแลกเปลี่ยนชาวแมกซิกัน 2 คน คืออาจารย์ Maricela Reyes จากมหาวิทยาลัย Universidad de Colima และอาจารย์ Maria de Las Nieves  Ivonne Delgado จากมหาวิทยาลัย Universidad Justa Sierra ได้ตั้งคำถามเรื่องศาลพระภูมิและความสำคัญของศาลพระภูมิในสังคมและวัฒนธรรมไทย  คณะผู้จัดทำจึงได้รวบรวมความรู้เรื่องศาลพระภูมิมาดังนี้

 

ความเชื่อเรื่องพระภูมิเจ้าที่มีรากฐานความเชื่อมาจากการนับถือผีบรรพบุรุษ  คือญาติผู้ใหญ่ ได้แก่ปู่ย่าตายายซึ่งตายไปแล้ว  และด้วยความอาลัยรักแม้บรรพบุรุษเหล่านี้จะตายไปแล้วลูกหลานก็ยังระลึกถึง  ท่านจึงอยู่เป็นผีประจำอยู่ในเรือน  คอยดูแลเอาใจใส่  การเลี้ยงผีบรรพบุรุษปรากฏอยู่ในสังคมและวัฒนธรรมไทยทั่วทุกภาค เห็นได้ชัดจากเหนือเรียกผีปู่ย่า  ภาคอีสานเรียกผีปู่ตา  ภาคกลางเรียกผีปู่ย่าตายาย  ภาคใต้เรียกผีตายาย   ส่วนที่สถิตของวิญญาณผีปู่ย่านั้นก็มีคติของแต่ละภาคเช่นกัน  ภาคเหนือจะสร้าง “หิ้งผี” ไว้ที่หัวนอนเพื่อให้เป็นที่วางดอกไม้บูชาผีบรรพบุรุษ  ดอกไม้ที่วางทุกวันนี้เมื่อลูกหลานคนใดจะแยกเรือนออกไปก็จะ “แบ่งผี” คือเอาบางส่วนของดอกไม้นี้ไปกราบไหว้เหมือนได้นำผีบรรพบุรุษไปกราบไหว้ที่เรือนของตน

 

นอกจากผีปู่ย่าตายแล้ว  ก็ยังมีผีเรือนอยู่ด้วย  ผีปู่ย่าหรือผีเรือนจะเป็นผีอย่างเดียวกันหรือต่างกันก็แล้วแต่  นอกจากนี้ยังมีผีเจ้าที่ซึ่งในภาคกลางเรียกว่าพระภูมิ  พระภูมิคงเป็นคำเขมรโดยยืมคำบาลมาใช้อีกทอดหนึ่ง  เพราะทางอินเดียไม่ปรากฏว่ามีคำพระภูมิใช้เกี่ยวกับเรื่องพระภูมิ  สำหรับเรื่องสัณฐานของศาลพระภูมิที่มีเสาเดียวนั้น  สันนิษฐานว่ามาจากสัณฐานของศาลพระภูมินาหรือศาลเพียงตาที่มีเสาเดียว  เมื่อทำต่อมาในยุคหลังจึงทำตามๆกันเป็นเสาเดียวเหมือนต้นแบบ

 

ศาลพระภูมินั้นแต่เดิมทำด้วยไม้  มีพื้นลดหลั่นกันเป็นสองชั้น  ชั้นบนเป็นที่ตั้งรูปเจว็ดของท่าน (แผ่นไม้รูปคล้ายใบเสมา เขียนเป็นรูปพระภูมิชัยมงคลตั้งประจำศาลพระภูมิ – ราชบัณฑิตยสถาน, 2556:334) ชั้นล่างเป็นที่วางเครื่องสังเวย ซึ่งแต่เดิมเห็นจะเป็นที่วางเครื่องสังเวยสิ่งละอันพันละน้อย ภายหลังมีไก่ หัวหมู ปลาแป๊ะซะ และอะไรอีกมากมายตามความเจริญของเรื่องเหล่านั้น  โดยเฉพาะที่อยู่ในเมืองจึงต้องมีโต๊ะตั้งเป็นพิเศษ  วิวัฒนาการของศาลพระภูมิที่ภายหลังนิยมสร้างด้วยซีเมนต์เพราะศาลที่เป็นไม้มักจะโดนปลวกกัดกินเสียหาย  เมื่อเปลี่ยนวัสดุในการสร้างเป็นปูนซีเมนต์ ศาลพระภูมิในสมัยปัจจุบันจึงมีความสวยงาม ทำให้มีลักษณะเป็นยอดวิมานอย่างที่อยู่ของเทวดา  เมื่อที่สถิตมีการปรับรูปร่างก็เลยทำให้สถานภาพของพระภูมิเจ้าที่ยกระดับเป็นเทวดาหรือแม้กระทั่งหัวหน้าเทวดาไป

 

นอกจากพระภูมิเจ้าที่ยังมีผีอื่นๆที่สถิตตามที่ต่างๆ ทั้งผีดีและผีร้าย เป็นต้นว่าผีนางไม้ ผีนางตานี รุกขเทวดา ผีเสาเอก  โดยเอามีผ้าผูกให้รู้ว่าเป็นที่สถิตของผี บริเวณเหล่านี้ถ้าไม่จำเป็นมนุษย์ก็มักจะหลีกเลี่ยงไม่ไปเกี่ยวข้องด้วย  แต่ประสบคราวเคราะห์หรือจำเป็นต้องผ่านบริเวณนั้นก็มักจะไปกราบไหว้ขอให้คุ้มครอง ถ้าไม่ได้ทำก็จะรู้สึกไม่สบายใจ  

 

 

รายการอ้างอิง                                                                                                                    

 

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2556.

 

เสฐียรโกเศศ [พระยาอนุมานราชธน]. การศึกษาเรื่องประเพณีไทยและชีวิตชาวไทยสมัยก่อน. พระนคร: คลังวิทยา, 2515.

 

 

(ตีพิมพ์ใน สารไทยศึกษา ปีที่ 16 ฉบับที่ 4 กรกฎาคม – กันยายน 2558)