บทพระราชนิพนธ์พระมหาชนกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

 

 

เนื่องด้วยวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดชเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 พรรษาในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559  หน่วยงานภาครัฐได้นำบทพระราชนิพนธ์พระมหาชนกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมาแสดงเพื่อเทิดพระเกียรติ  สถาบันไทยศึกษาฯ จึงใช้โอกาสมหามงคลนี้นำความรู้เรื่องบทพระราชนิพนธ์พระมหาชนกมาเผยแพร่ต่อไป

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกโดยทรงนำเรื่องมาจากเมื่อ พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์(วิน ธมฺมสาโร มหาเถร) วัดราชผาติการาม  เรื่องพระมหาชนกเสด็จทอดพระเนตรพระราชอุทยาน ในกรุงมิถิลา เรื่องมีใจความว่า ที่ทางเข้าสวนหลวงมีต้นมะม่วง 2 ต้น ต้นหนึ่งมีผล อีกต้นหนึ่งไม่มีผล ทรงลิ้มรสมะม่วงอันโอชา  แล้วเสด็จเยี่ยมอุทยาน  เมื่อเสด็จกลับจากสวนหลวงทอดพระเนตรเห็นมะม่วงที่มีรสดี ถูกข้าราชบริพารดึงทึ้งจนโค่นลง  ส่วนต้นที่ไม่มีลูกก็ยังคงตั้งตระหง่าน …

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัย จึงทรงค้นเรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฎก (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่มที่ 4 ภาคที่ 2) และทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษ  ตรงจากมหาชนกชาดก ตั้งแต่ต้นเรื่องโดยทรงดัดแปลงเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น

เนื้อหาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ได้ทรงดัดแปลงจากมหาชนกชาดกนั้นมีหลายประการ เช่น การตัดทอนเรื่องให้กระชับ การเพิ่มเติมเนื้อความ การเปลี่ยนตอนจบของเรื่อง การเปลี่ยนคำบาลี-สันสกฤตให้เป็นคำไทยสามัญ การสร้างคำใหม่ทั้งคำไทยและคำต่างประเทศ และการคัดภาษาบาลี ลักษณะการดัดแปลงหลายประการนี้  อาจกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนตอนจบของเรื่องที่พระมหาชนกออกบวชในตอนท้ายเรื่องในมหาชนกชาดก  มาเป็นการตั้งปูทะเลย์มหาวิชชาลัยในพระราชนิพนธ์มหาชนกเป็นการดัดแปลงที่เด่นชัดประการหนึ่ง ทั้งนี้ก็เพื่อสื่อสาระธรรมให้เหมาะสมกับบริบทสังคมปัจจุบัน        

เมื่อพิจารณาระยะเวลาตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มค้นคว้าจนกระทั่งทรงพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกสมบูรณ์ จะพบว่าเป็นระยะเวลายาวนานถึงเกือบยี่สิบปี ระยะเวลาที่ยาวนานในการพระราชนิพนธ์นั้นนอกจากจะมีเหตุมาจากการประกอบพระราชกรณียกิจอื่นๆหลายประการแล้ว  ยังมีเหตุมาจากความเอาพระทัยใส่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชนิพนธ์และทรงแก้ไขให้พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกมีความสมบูรณ์มากที่สุด  พระราชนิพนธ์เรื่องนี้จึงเป็น  

 

“หนังสือเรื่องนี้เป็นที่รักของข้าพเจ้า….หนังสือเล่มนี้ไม่มีที่เทียมและก็ท่านผู้เป็นศิลปิน ผู้ที่เป็นกรรมการ และผู้ที่สนับสนุน ย่อมจะทราบดีว่างานที่เราทำนั้นคุ้มค่าแค่ไหน” 

(พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  ในวโรกาสจัดแสดงนิทรรศการภาพเขียนเรื่องพระมหาชนก  ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา รโหฐาน พระราชวังดุสิต วันที่ 28  มีนาคม 2539 อ้างใน รื่นฤทัย สัจจพันธุ์. จากเก่าสู่ใหม่ วรรณศิลป์ไทยไม่สิ้นสูญ .กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยศรีนครินทร-วิโรฒ, 2552 หน้า 74.)

หลังจากการเผยแพร่พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อปี พ.ศ.  2539 เกิดการผลิตซ้ำเรื่องเล่าพระมหาชนกหลากหลายสำนวน หลากหลายรูปแบบ  อาจกล่าวได้ว่าพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีการผลิตซ้ำมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับพระราชนิพนธ์เรื่องอื่นๆ ทั้งนี้อาจจะเป็นปัจจัยมาจากที่มาของบทพระราชนิพนธ์พระมหาชนกที่เป็นทศชาดกอันเป็นเรื่องเล่าทางพุทธศาสนาที่มีการรับรู้อย่างแพร่หลายในสังคมวัฒนธรรมไทย  การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนำมหาชนกชาดกมาดัดแปลงเป็นบทพระราชนิพนธ์จึงทำให้ชาดกเรื่องนี้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างยิ่งขึ้น

แม้จะไม่สามารถระบุจำนวนได้อย่างแน่ชัดว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา  มีเรื่องเล่าที่ผลิตซ้ำจากบทพระราชนิพนธ์พระมหาชนกทั้งสิ้นกี่สำนวน  แต่ก็อาจจะกล่าวได้ว่าเรื่องเล่าเกือบทุกเรื่องมีวัตถุประสงค์ในการผลิตซ้ำเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะพระมหากษัตริย์ผู้มีพระอัจฉริยภาพด้านภาษา  และเพื่อเผยแพร่คำสอนเรื่อง“ความเพียรที่บริสุทธิ์”อันเป็นสาระธรรมที่ปรากฏอย่างเด่นชัดในพระราชนิพนธ์เรื่องนี้

 

รายการอ้างอิง

รื่นฤทัย สัจจพันธุ์. จากเก่าสู่ใหม่ วรรณศิลป์ไทยไม่สิ้นสูญ .กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2552.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช. พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  เรื่องพระมหาชนก. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2539.

 

 

(ตีพิมพ์ใน สารไทยศึกษา ปีที่ 17 ฉบับที่ 3 เมษายน-มิถุนายน 2559)