บทสังเคราะห์ของมโนทัศน์หลักและลักษณะเด่นของวรรณคดีไทยพุทธศาสนา

แปลและสรุปความจาก Pisit Kobbun, “ A Synthesis Major Concept and Characteristics of Thai Buddhist Literature”, Rain Thai: International conference of Thai Studies Vol.9/2016 p.97-121.

 

วรรณคดีไทยพุทธศาสนามีรากมาจากวัฒนธรรมอินเดีย  ด้วยการแปลวรรณคดีพุทธศาสนาภาษาบาลีของอินเดียซึ่งแพร่กระจายทั่วดินแดนที่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทอย่างศรีลังกา พม่า ไทย และประเทศอื่นๆ ในอุษาคเนย์  วรรณคดีพุทธศาสนาคือวรรณคดีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคำสอน เหตุการณ์ หรือบุคคลในพุทธประวัติ  มีการผลิตซ้ำในหลายรูปแบบและเนื้อหา  การสังเคราะห์มโนทัศน์หลักและบทบาทของวรรณคดีไทยพุทธศาสนา นำไปสู่ความเข้าใจแนวคิดพื้นฐานของพุทธศาสนาในสังคมไทย  

วรรณคดีไทยพุทธศาสนาที่แต่งขึ้นตั้งแต่ช่วงสุโขทัยจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ปรากฏมโนทัศน์หลักและลักษณะเด่น 4 ประการดังต่อไปนี้

 

1. วรรณคดีไทยพุทธศาสนาสร้างสรรค์มาจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และปกรณ์วิเสส  

 

ปรากฏทั้งการสร้างสรรค์จากคัมภีร์ทางพุทธศาสนาชั้นต้นอย่างพระไตรปิฎก  และอรรถกถาซึ่งเป็นวรรณคดีที่เขียนขึ้นเพื่ออธิบายพระไตรปิฎก  และวรรณคดีพุทธศาสนาที่แต่งขึ้นภายหลังอย่างฎีกาซึ่งแต่งขึ้นเพื่อขยายความอรรถกถาอีกชั้นหนึ่ง  รวมถึงปกรณ์วิเสส  การสร้างสรรค์วรรณคดีไทยพุทธศาสนาจากคัมภีร์พุทธศาสนาปรากฏทั้งลักษณะของการสร้างสรรค์โดยตรง และการสร้างสรรค์ทางอ้อม
 

การสร้างสรรค์วรรณคดีไทยพุทธศาสนาโดยตรงจากคัมภีร์พุทธศาสนา ได้แก่ การนำคำสอน เหตุการณ์ หรือข้อความจากคัมภีร์พุทธศาสนาโดยอ้างอิงกับพระไตรปิฎกและอรรถกถา ลักษณะการสร้างสรรค์อีกประการหนึ่งที่ปรากฏมากคือ  การนำเรื่องและเนื้อหาจากพระไตรปิฎกมาปรับให้เข้ากับสังคมและวัฒนธรรมไทยโดยมิได้เปลี่ยนแปลงคำสอนที่ปรากฏในเรื่อง ตัวอย่างของวรรณคดีไทยพุทธศาสนาที่สร้างสรรค์ขึ้นภายใต้กรอบแนวคิดนี้ได้แก่ ปฐมสมโพธิกถา นันโทปนันทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง  และการนำเรื่องจากปัญญาสชาดกมาปรับเป็นวรรณคดีท้องถิ่น
       

วรรณคดีไทยพุทธศาสนาที่สร้างสรรค์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากคัมภีร์พุทธศาสนา สามารถจัดประเภทได้เป็น 4 กลุ่มย่อยคือ

     (1) พระไตรปิฎกภาษาไทย เป็นแกนกลางของวรรณคดีทุกประเภท ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของตัวบทที่เป็นคัมภีร์ของศาสนา  การแปลพระไตรปิฎกจึงต้องแปลอย่างรัดกุม ตรงไปตรงมา ไม่ปรับเปลี่ยนเนื้อหาใดๆ ก็ตาม

     (2) วรรณคดีอรรถาธิบาย เขียนขึ้นเพื่อการขยายความและอธิบายองค์ความรู้ในพระไตรปิฎก อาทิ อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา  ตำราพุทธศาสนาก่อให้เกิดอิทธิพลในการสร้างสรรค์วรรณคดีไทยพุทธศาสนา  ไตรภูมิกถาก็จัดเป็นตำราทางพุทธศาสนา  เพราะเป็นตำราโลกศาสตร์ที่มาจากคัมภีร์ทางศาสนาแล้วสร้างเป็นเรื่องที่มีเนื้อหาเฉพาะ

     (3) วรรณคดีประวัติ  เป็นวรรณคดีที่เกี่ยวข้องกับประวัติของบุคคล สถานที่  เหตุการณ์ และวัตถุศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ บางเล่มกล่าวความเจริญและความเสื่อมของศาสนา  ลักษณะของวรรณคดีกลุ่มนี้คือคัดเลือกเนื้อหาตอนใดตอนหนึ่งจากคัมภีร์ศาสนามาสร้างวรรณคดีเรื่องเดียว อาทิ ปฐมสมโพธิกถา มหาวงศ์ ชินกาลมาลีปกรณ์

     (4) วรรณคดีเชิงวรรณศิลป์ วรรณคดีประเภทนี้มีอยู่มากในวัฒนธรรมทางวรรณศิลป์ของไทย  มีลักษณะเน้นอารมณ์สะเทือนใจ  อารมณ์ ความงามและอลังการทางรูปแบบ  เช่น สมบัติอัมรินทร์คำกลอน กากี

 

        

2. วรรณคดีไทยพุทธศาสนาเป็นวรรณคดีแห่งประสบการณ์

 

วรรณคดีไทยพุทธศาสนาสร้างสรรค์โดยผู้แต่งผู้มีประสบการณ์จากการเรียน การปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่การบรรลุถึง (ปรัยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ) ผู้แต่งซึ่งส่วนมากจะเป็นพระภิกษุได้แปรรูปประสบการณ์และความรู้ทางธรรมของตนให้ออกมาในรูปของวรรณคดีที่ความประณีตงดงามทั้งความรู้และความงามทางวรรณศิลป์  เพื่อใช้วรรณคดีนี้เป็นเครื่องมือสอนประสบการณ์ทางธรรมแก่ผู้เสพ  

นอกเหนือจากผู้สร้างที่เป็นพระภิกษุหรือผู้เคยบวชเรียนในพุทธศาสนาแล้ว ลักษณะของวรรณคดีไทยพุทธศาสนาที่เป็นวรรณคดีแห่งประสบการณ์ยังเกี่ยวกับตัวบทและผู้เสพวรรณคดี  ในส่วนของตัวบทซึ่งเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดประสบการณ์ทางธรรม จะเห็นได้ว่าตัวบทของวรรณคดีไทยพุทธศาสนาต่างอ้างอิงกับพระไตรปิฎก  ในขณะเดียวกันผู้อ่านก็ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ทางธรรมเพื่อรับสารที่สื่อมาจากผู้เขียน
     

3.วรรณคดีไทยพุทธศาสนาประพันธ์ขึ้นด้วยกลวิธีทางวรรณศิลป์อันหลากหลาย

 

ถึงว่าแม้ว่าองค์ประกอบของวรรณคดีไทยพุทธศาสนาจะเป็นเนื้อหาทางศาสนา และมุ่งสอนศาสนา  แต่เมื่อนำเสนอในรูปแบบของวรรณคดีซึ่งเป็นศิลปะประเภทหนึ่งที่มุ่งเน้นความงาม อารมณ์สะเทือนใจ  ความงามทางพุทธศาสนาคือความงามของเนื้อหาที่เป็นธรรมะหรือเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า  การผสานองค์ประกอบทางวรรณศิลป์กับวัตถุประสงค์เพื่อการสอนธรรมะเพื่อให้เกิดการสื่อสารที่กระจ่างชัด  การแสดงออกด้วยกลวิธีทางวรรณศิลป์จึงเป็นมโนทัศน์สำคัญในวรรณคดีไทยพุทธศาสนา

ตัวอย่างของการใช้กลวิธีทางวรรณศิลป์เพื่อสื่อสาระธรรม เช่นการพรรณนาภาพสวรรค์อันอุดมด้วยความสุข  ซึ่งตัดกันกับการพรรณนาภาพความทุกข์ของสัตว์นรกในไตรภูมิกถา  การพรรณนาภาพที่ขัดแย้งกันนี้เพื่อชักจูงให้ผู้เสพวรรณคดีเห็นประโยชน์ของการประกอบกุศลกรรม และในขณะเดียวกันก็เกรงกลัวในการประกอบอกุศลกรรม

 

4.วรรณคดีไทยพุทธศาสนาเป็นวรรณคดีมุ่งประโยชน์

 

หัวใจสำคัญของพุทธศาสนาคือความรู้ที่นำไปสู่การประพฤติชอบ  อันก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งระดับสามัญและระดับสูง  ประโยชน์ทางสามัญคือความยินดีและความสุขสงบใจที่ได้รับสารทางพุทธศาสนา  ทำให้เกิดศรัทธาและความเชื่อ ดำเนินชีวิตตามครรลองธรรม  ประโยชน์ระดับสูงคือการเข้าใจหลักอริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค 

 

 

(ตีพิมพ์ใน สารไทยศึกษา ปีที่ 19 ฉบับที่ 1 ตุลาคม – ธันวาคม 2560)