พระบาทสมเด็จพระเจ้านั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการฟื้นฟูสถาบันสงฆ์

สรุปความจาก วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์. “พระบาทสมเด็จพระเจ้านั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการฟื้นฟูสถาบันสงฆ์” .วารสารไทยศึกษา. ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556- กรกฎาคม 2256., 41-60.

 

 

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ทั้งนี้ เป็นเพราะทรงเลื่อมใสส่วนพระองค์ อีกเหตุผลหนึ่งคือสถาบันศาสนาเป็นเครื่องค้ำชูสถาบันพระมหากษัตริย์   กล่าวคือเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ค้ำจุนพระพุทธศาสนาโดยการสร้างปูชนียวัตถุ ปกครองและบำรุงคณะสงฆ์  ดูแลประชาชนให้อยู่ในศีลธรรม พระมหากษัตริย์จึงเปรียบเสมือนพระโพธิสัตว์ที่นำมนุษย์ไปสู่สุคติ  เมื่อศาสนาได้รับการบำรุงเรืองแล้วสถานภาพของพระมหากษัตริย์ได้การค้ำจุนให้มั่นคงตามไปด้วย

พระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญเพื่อการฟื้นฟูสถาบันสงฆ์ในรัชสมัยของพระองค์ แบ่งได้ 4 ประการดังต่อไปนี้

 

การสังคายนาพระไตรปิฎกและการส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกต่อจากสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าโลก  นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระไตรปิฎกใหม่ ที่สำคัญคือ ฉบับรดน้ำเอก ฉบับรดน้ำโท ฉบับทองย้อย ฉบับชุมยอ ฉบับอักษรรามัญ ฉบับเทพชุมนุมสำหรับวัดพระเชตุพน  ฉบับลายกำมะลอสำหรับวัดราชโอรส   

 

นอกเหนือการสังคายนาพระไตรปิฎกแล้ว  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงกระตุ้นให้มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมมากขึ้น  ทรงมีพระราชประสงค์ให้วัดแต่ละวัดมีพระเปรียญอย่างน้อย 5-6 รูปต่อปี  และยังได้ขยายการศึกษาพระปริยัติธรรมออกเป็น 4 ขั้น คือ (1) ชั้นบาเรียนจัตวา (2) ชั้นบาเรียนตรี (3) ชั้นบาเรียนโท และ (4) ชั้นบาเรียนเอก

 

    

การสร้างวัดและการส่งเสริมการบวช  

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  นับเป็นสมัยที่มีการสร้าง สถาปนา และปฏิสังขรณ์วัดมากที่สุดทั้งในกรุงและนอกกรุง  วัดที่สร้างในสมัยนี้มี  5 วัด และปฏิสังขรณ์อีก 60 วัด สาเหตุของการสร้างวัดจำนวนมากก็เพื่อรองรับพระภิกษุสามเณรที่มีอยู่จำนวนมาก ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระมหานิกาย 28,000 รูป และเป็นพระสามัญ 2,000 รูป ทั้งนี้เป็นการบวชการเป็นช่องทางเลื่อนสถานภาพทางสังคมช่องทางหนึ่ง โดยเฉพาะพวกไพร่และทาส  

 

การปรับปรุงการปกครองคณะสงฆ์  

ในการจัดการปกครองคณะสงฆ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ยังคงยึดตามแบบการปกครองในรัชกาลก่อน อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดแบ่งคณะสงฆ์เป็น 4 คณะใหญ่ คือ คณะเหนือ คณะใต้ คณะกลาง และคณะอรัญวาสี   ในรัชสมัยนี้ยังมีการตั้งเกณฑ์การตั้งและการเลื่อนสมณศักดิ์ เช่น เป็นผู้เล่าเรียนและแตกฉานในพระปริยัติธรรม เป็นผู้มีความรู้ความสามารถทางด้านบริหารคณะสงฆ์  เป็นผู้มั่นคงในพระธรรมวินัยหรือทรงคุณในทางวิปัสสนากรรมฐาน ผู้ที่ได้รับสมณศักดิ์จะได้เครื่องประกอบสมฯศักดิ์รวมถึงนิตยภัตด้วย ลดหลั่นตามชั้นและตำแหน่ง

 

การทำนุบำรุงด้านอื่นๆ

ได้แก่ การพระราชทานนิตยภัตคือค่าอาหารที่ถวายพระภิกษุสามเณรเป็นประจำตามลำดับชั้นยศ เริ่มตั้งแต่พระราชาคณะผู้ใหญ่ ที่ได้รับค่านิตยภัตเดือนละ 20 บาท ลำดับสมณศักดิ์ลำดับสุดท้ายที่ได้รับค่านิตยภัตคือ เปรียญ 3 ประโยคและพระฐานุกรมสามัญ และพระสงฆ์อนุจรในพระอารามหลวง ได้รับค่านิตยภัตเดือนละ 50 สตางค์  การพระราชทานนิตยภัตนี้ก็เพื่อให้พระสงฆ์สามารถดำรงสมณเพศได้นานตามต้องการ

นอกเหนือจากการพระราชทานนิตยภัตแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอย่างสม่ำเสมอ เสด็จทรงบาตรเป็นประจำทุกวันมิได้ขาด  และทรงนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาถวายพระธรรมเทศนาและบอกคัมภีร์ในพระบรมมหาราชวัง  

 

 

(ตีพิมพ์ใน สารไทยศึกษา ปีที่ 18 ฉบับที่ 1 ตุลาคม-ธันวาคม 2559)