“พระมหากษัตริย์” และ “พระพุทธศาสนา”

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2559 เวลา 15 นาฬิกา 52 นาทีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จสวรรคต  ยังความโศกเศร้าแก่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า  ในโอกาสแห่งความอาลัยนี้  คณะผู้จัดทำจึงขอนำบทสรุปความรู้เรื่อง “พระมหากษัตริย์” และ “พระพุทธศาสนา” อันเป็นส่วนหนึ่งของความเรียง พระมหากษัตริย์กับพระพุทธศาสนา ที่ศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา ได้เขียนไว้ในหนังสือ ศักดิ์ศรีวรรณกรรม มาเผยแพร่ เพื่อแสดงความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ผู้สถิตในดวงใจของชาวไทยนิรันดร์

อันตำแหน่งประมุขของแว่นแคว้นนั้น มีความหมายสองประการ กล่าวคือในยามปกติตำแหน่งนี้ก็เปรียบได้กับหัวหน้าครอบครัวใหญ่อันประกอบไปด้วยคนไทยหลายเผ่าหลายพวก ผู้เป็นประมุขจึงเป็นศูนย์กลางแห่งการปกครอง ต้องคอยดูแลทุกข์สุขและเอื้ออำนวยความไพบูลย์สวัสดีแก่ราษฎรของตน  หน้าที่นี้ก็เช่นเดียวกับพ่อที่ปกครองลูก ย่อมจักคอยอาทรเอื้อเฟื้อให้ลูกของตนประสบแต่ความสมบูรณ์พูนสุขอยู่เสมอ ยามที่เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ  หรือเป็นถ้อยเป็นความ  ก็ย่อมพิพากษาตัดสินหรือไกล่เกลี่ยให้ได้รับความยุติธรรมทุกฝ่าย  อีกประการหนึ่งก็คือ  ในยามที่เกิดศึกสงคราม  ประมุขของชาวไทยก็ต้องทำหน้าที่เป็นจอมทัพหรือแม่ทัพใหญ่นำทหารออกต่อต้านข้าศึก  ฉะนั้นตำแหน่งประมุขดังกล่าวมานี้จึงเป็นตำแหน่งหัวหน้าทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน

ตำแหน่งจอมทัพนั้น  ถ้าเรียกตามศัพท์อันมีมาในภาษาบาลี ก็เรียกว่า ขัตติยะ (ขตฺติย) และเรียกตามศัพท์สันสกฤตว่า กษัตริย์ (กฺษตฺริย) มีความหมายว่า “นักรบ” คำนี้เขาใช้เรียกหัวหน้าราษฏร  และยกให้ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก  จึงเป็นคำเต็มที่ว่า “พระมหากษัตริย์” เหตุที่เรียกหัวหน้าราษฎรว่าพระมหากษัตริย์  ก็เพราะว่าในสมัยโบราณ  ผู้เป็นประมุขของราษฎรต้องมีฝีมือเข้มแข็ง และต้องมีความองอาจกล้าหาญ สามารถนำกองทัพออกต่อสู้ศัตรูและรักษาบ้านเมืองของตน  ถ้าไม่มีฝีมือเข้มแข็ง  รบไม่เก่ง ก็ย่อมพ่ายแพ้เสียทีข้าศึก  ทำให้ประชาติสูญสิ้นเอกราชไปด้วย ฉะนี้จะแลเห็นได้ว่า  ตำแหน่งที่เรียกว่า “พระมหากษัตริย์” นี้มีความสำคัญมาก เกี่ยวกับความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศชาติ  จึงได้รับการยกย่องเทิดทูนอย่างสูง  เป็นประดุจมิ่งขวัญของราษฎร ทำให้ราษฎรได้รับความอบอุ่นใจ  นับว่าเป็นที่พึ่งอันสำคัญยิ่งของราษฎรในแว่นแคว้น  

คำว่า พระมหากษัตริย์ ซึ่งแต่เดิมเราหมายถึงนักรบหรือนายทัพนี้ในกาลต่อมา  แม้บ้านเมืองสงบราบคาบ  ไม่มีศึกสงครามมารุกราน  เราก็ยังนิยมเรียกประมุขของประเทศว่า พระมหากษัตริย์ อยู่นั้นเอง เราใช้คู่กับคำว่า “ราชา” หรือผู้ปกครองแว่นแคว้น ซึ่งเป็นอีกศัพท์หนึ่งที่เรานำมาจากภาษาบาลีและสันสกฤตใช้เรียกประมุขของเรา  แต่จะเป็นคำว่า ราชา หรือ มหากษัตริย์ ก็ตาม เราย่อมเข้าใจรวมกันไปว่าเป็นคำที่เรียกประมุขของชาติคนเดียวกัน มีความหมายอย่างเดียวกัน  และทำหน้าที่สองอย่าง คือเป็นหัวหน้าฝ่ายปกครองและทำนุบำรุงบ้านเมืองในยามปกติ  กับเป็นหัวหน้าฝ่ายทหารในการออกสู้ศึกสงคราม  เพราะฉะนั้นตามความเข้าใจตรงกันว่า หมายถึงประมุขของชาตินั้นเอง  บางทียังเรียกรวมกันเสียด้วยว่า “พระราชามหากษัตริย์” อย่างที่มักจะได้ยินกันอยู่บ่อยๆ

พระมหากษัตริย์ไทยหรือพระราชาธิบดีของไทยตั้งแต่สมัยโบราณกาลลงมา  ล้วนแต่เป็นผู้ที่ทำความดีความชอบต่อบ้านเมืองมาเป็นส่วนมาก สมกับตำแหน่งอันสูงเกียรตินี้เสมอมา  บางครั้งชาติไทยเราถูกชนชาติอื่นๆรุกรานเอาเป็นอย่างหนักจนทนอยู่ไม่ได้  จำต้องถอยร่นลงมาทางใต้และแตกหักเป็นก๊กเป็นเหล่า แต่ไทยเราก็กลับฟื้นคืนมาอีกหลายครั้งหลายหนพร้อมด้วยอำนาจอันแข็งแกร่งไม่ถึงแก่อับจน  หรือมลายหายสูญสิ้นชาติเชื้อไปเหมือนชาติโบราณอื่นๆ อีกหลายชาติ  ทั้งนี้ก็เพราะความสามารถของพระมหากษัตริย์ไทยนั่นเองที่ได้รวบรวมประเทศชาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเป็นปึกแผ่นมั่นคงดำรงเอกราชเรื่อยมาจนถึงบัดนี้  โดยเหตุนี้พระเจ้าแผ่นดินไทยนับตั้งแต่อดีตกาลช้านานกว่าสามพันปีเป็นต้นมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้จึงเป็นที่เคารพเทิดทูนของประชาชนชาวไทยเสมอมามิได้ขาด มีความสำคัญอย่างสูงสุดเปรียบประหนึ่งหัวใจของชาติ  หรือเป็นศูนย์กลางความรัก ความนับถือ  ตลอดจนถึงความไว้วางใจของราษฎรทุกคน  และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีพระมหากษัตริย์ จะขาดเสียมิได้

พระมหากษัตริย์ไทยในสมัยโบราณนั้น  ได้รับความนิยมยกย่องจากราษฎรให้เป็นหัวหน้าของผู้ปกครองประเทศ  ย่อมมีพระราชอำนาจบริบูรณ์ทุกอย่างในอันที่จะทรงบริหารกิจการของชาติให้ลุล่วงไปตามพระราชอัธยาศัย  แต่ก็หาได้ปรากฏว่า พระองค์ทรงกระทำทุกสิ่งทุกอย่างไปตามอำเภอพระทัยไม่ พระมหากษัตริย์ย่อมทรงคำนึงถึงสิทธิ  เสรีภาพ  และผลประโยชน์ของราษฎรเป็นใหญ่เสมอ  การอันใดที่จะเป็นประโยชน์  เป็นสุขแก่ราษฎร  และจะเป็นเครื่องประสานสามัคคีระหว่างชนในชาติ  พระองค์ก็ทรงกระทำนั้นๆด้วยเต็มพระราชหฤทัยเสมอ  ทั้งนี้ก็เพราะทรงมีหลักธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำพระทัย  และเป็นเครื่องเตือนพระสติอยู่เป็นนิจ  หลักธรรมดังกล่าวก็คือพระพุทธศาสนานั่นเอง

อนึ่ง พระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาที่ส่งเสริมเสรีภาพของมนุษย์อย่างเต็มที่  ซึ่งก็นับว่าถูกกับอัธยาศัยและนิสัยใจคอของคนไทยอันเป็นชนชาติที่รักเสรีภาพยิ่งนัก  พระพุทธศาสนาไม่ได้สนับสนุนให้คนเราแบ่งชั้นวรรณะกัน แต่มุ่งให้ทุกคนมีความเมตตากรุณาต่อกัน  และอยู่ร่วมกันโดยสันติสุข  ไม่ให้ประทุษร้ายเบียดเบียนกัน  นี่ก็เป็นเครื่องทบทวีความเจริญแก่ชาติอีกโสดหนึ่ง เพราะอบรมนิสัยให้คนไทยเรามีใจกว้างขวางเผื่อแผ่  สามารถคบค้าสมาคมกับชาติอื่นด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดียิ่ง  ทำให้บังเกิดความนับถือ  ความสนิทสนม  และความไว้เนื้อเชื่อใจนานาประเทศทั่วไป  หลักธรรมดังกล่าวนี้นับว่าเป็นหลักสำคัญในการปกครองของไทย  เพราะทำให้ไทยเราเป็นชาติรักสงบ  มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเสมอ  ไม่เที่ยวรุกรานบ้านเมืองอื่นให้เขาเดือดร้อน  เรียกว่าไม่ก่อให้เกิดศัตรู  เราจึงอยู่กันมาด้วยความผาสุกยั่งยืนตราบเท่าทุกวันนี้

พระพุทธศาสนานั้นถึงแม้ว่าจะทรงความประเสริฐและศักดิ์สิทธิ์เพียงใดก็ตาม  จะดำรงคงอยู่เฉยๆ โดยไม่มีผู้อุปถัมภ์ย่อมไม่ได้  แท้จริงพระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองและอยู่ยั่งยืนมั่นคงก็ด้วยอาศัยผู้นำประเทศ  คือพระมหากษัตริย์เป็นผู้สนับสนุนและทำนุบำรุง  เพราะพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเต็มที่ในอันที่จะทรงอำนวยความอุปถัมภ์และส่งเสริมได้มากกว่ายิ่งกว่าบุคคลใดๆ อาทิ การสร้างวัดวาอาราม  ซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ปูชนียสถานต่างๆ ทางพุทธศาสนาตลอดจนถวายนิตยภัตเป็นเครื่องบำรุงเลี้ยงพระสงฆ์  เป็นต้น  พระมหากษัตริย์จึงทรงอยู่ในฐานะอันเลิศฝ่ายอุปถัมภ์พระศาสนาให้เจริญวัฒนาถาวรโดยลำดับมา เรียกว่าเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก เป็นหลัก เป็นประธานในการจรรโลงพระพุทธศาสนามาจนทุกวันนี้

ในส่วนพระมหากษัตริย์ก็ทรงต้องพึ่งพาอาศัยพระพุทธศาสนาอย่างสำคัญ เพราะพระพุทธศาสนาเป็นหลักใจ  เป็นที่ยึดเหนี่ยว  และเป็นเครื่องส่องสติปัญญาให้พระมหากษัตริย์ทรงประพฤติ ปฏิบัติ และดำเนินไปในทางถูกต้อง นับว่าพระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งอันทรงคุณประโยชน์ยิ่ง  ยกตัวอย่างเช่น  พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้เบียดเบียนกัน  พระมหากษัตริย์ไทยก็ทรงปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด  โดยนัยนี้นโยบายการปกครองของไทยก็เป็นไปในทางอะลุ้มอล่วย มีความเห็นอกเห็นใจกันเป็นใหญ่  พระมหากษัตริย์ทรงมีน้ำพระทัยกว้างขวาง  ทรงให้เสรีภาพแก่ราษฎรอย่างเต็มที่ในอันที่จะมีความคิดเห็นแลแสดงความนับถือสิ่งต่างๆ ที่ตนปรารถนา ถ้าเป็นลัทธิอื่นศาสนาอื่นที่เข้มงวด จำกัดเสรีภาพในทางจิตใจของคน ประวัติศาสตร์ของชาติไทยก็จักเปลี่ยนไปในรูปอื่น  ไม่ประกอบไปด้วยความเผื่อแผ่เอื้อเฟื้อต่อคนทั้งหลายเหมอนดังที่เปิดโอกาสให้ราษฎรนับถือสิ่งต่างๆ ลัทธิต่างๆ ตามใจชอบแล้ว  ยังทรงเผื่อแผ่ความเมตตาปรานีไปยังประเทศอื่นๆด้วย กล่าวคือ ไม่ทรงเห็นว่าชาวต่างชาติที่นับถือศาสนาอื่นเป็นศัตรู  ทรงให้ความเป็นมิตรแก่ทุกๆ ชาติโดยสุจริตพระทัย  เหตุนี้ทำให้ไทยเราได้รับความนับถือยกย่องจากนานาชาติว่า เราเป็นชาติที่เจริญ  เป็นชาติที่รักสงบ  ไม่นิยมการทำสงครามรุกรานชาติอื่นให้เดือดร้อน  มีแต่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนต่างชาติต่างศาสนาด้วยไมตรีจิตเสมอมา
    

 

รายการอ้างอิง

ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา. ศักดิ์ศรีวรรณกรรม. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555. 

 

(ตีพิมพ์ใน สารไทยศึกษา ปีที่ 18 ฉบับที่ 1 ตุลาคม-ธันวาคม 2559)