พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

ด้วยวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 กำหนดให้เป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรชาวไทย  ในการนี้ รัฐบาลได้สร้างพระเมรุมาศขึ้นที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวงเพื่อใช้ประกอบพระราชพิธีอย่างสมพระเกียรติ สารไทยศึกษาจึงขอใช้โอกาสนี้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพระเมรุมาศ 

คติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ที่เปรียบพระมหากษัตริย์เป็นองค์นารายณ์อวตาร และคติพุทธศาสนาที่เปรียบพระมหากษัตริย์เป็น  พระโพธิสัตว์ที่จุติมาบนโลกเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ งานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์  จึงปรากฏการสร้างพระเมรุมาศเพื่อส่งพระองค์คืนสู่สวรรค์  ดังคำแสดงการเสียชีวิตของพระมหากษัตริย์ที่ใช้คำว่า “สวรรคต” ซึ่งหมายถึง “การไปสู่สวรรค์ (สฺวรฺค+คต)” (ราชบัณฑิตสถาน, 2556:1184)

ธรรมเนียมการสร้างพระเมรุมาศเพื่อใช้เป็นที่ถวายพระเพลิง พระบรมศพปรากฏมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง  อย่างไรก็ตาม ธรรมเนียมการสร้างพระเมรุมาศก็ได้ปรับเปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัยตามบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป  กล่าวคือ ในสมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนิยมการสร้างพระเมรุเอกเป็นเรือนยอดปรางค์ขนาดใหญ่สีทอง แวดล้อมด้วยพระเมรุทิศ  เมรุแทรก  เพื่อจำลองรูปลักษณ์ของเขาพระสุเมรุตามคติไตรภูมิที่ว่าสวรรค์นั้นอยู่บนเขาพระสุเมรุ  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ธรรมเนียมในการสร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่ได้เปลี่ยนเป็นการสร้างพระเมรุมาศขนาดเล็กลง  ทั้งนี้เพื่อความประหยัดทั้งแรงงานและพระราชทรัพย์ เพราะในรัชสมัยของพระองค์ได้ยกเลิกการเกณฑ์แรงงานจากไพร่ และระบบทาสแล้ว  พระเมรุมาศของระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเป็นต้นแบบของพระเมรุมาศแบบใหม่ของสมัยรัตนโกสินทร์  คือพระเมรุมาศทรงบุษบกที่แวดล้อมด้วยพระเมรุราย 4 ทิศ
 

รูปแบบของพระเมรุมาศบุษบกซึ่งเป็นแบบพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ภายในมีแท่นพระจิตกาธานรองรับพระบรมโกศจันทน์ในวันถวายพระเพลิง โดยนำเฉพาะพระเมรุส่วนที่ใช้ถวายพระบรมศพมาขยายขนาดเป็นพระเมรุมาศแทนพระเมรุมาศปราสาทยอดปรางค์แบบเดิม
 

สำหรับการปลูกสร้างพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  คณะผู้จัดสร้างได้ทำอย่างพิถีพิถัน ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดวางผังพระเมรุมาศที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับศาสนสถานสำคัญในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์บริเวณรอบมณฑลพิธีท้องสนามหลวง  โดยตำแหน่งที่ตั้ง  พระเมรุมาศบุษบกประธาน  ที่ตั้งของพระจิตกาธานสำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพเป็นจุดตัดของแนวแกนที่สำคัญ 2 แนวแกนที่ตัดกันได้แก่

– แนวเหนือ-ใต้ เป็นแนวแกนที่สัมพันธ์กับพระศรีรัตนเจดีย์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อลากจากยอดพระศรีรัตนเจดีย์

-แนวตะวันออก-ตะวันตก เป็นแนวแกนที่สัมพันธ์กับพระอุโบสถและพระวิหาร วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เมื่อลากจากเขตพุทธวาสวัด มหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

การกำหนดแนวแกนของพระเมรุราศดังกล่าวข้างต้น เป็นความตั้งใจของคณะสถาปนิกผู้ออกแบบที่มีความหมายเบื้องหลังว่า

“เราตีความว่าพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ปรัชญาการวางผังตามคติความเชื่อแบบไทยประเพณี  ถ้าอะไรสำคัญมักจะมีแนวแกน เราอยากให้พระเมรุมาศสัมพันธ์กับสิ่งสำคัญที่มีอยู่  ซึ่งในวัดพระศรีรัตนศาสดารามที่เราเลือก “พระศรีรัตนเจดีย์” เป็นเจดีย์สีทองที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และ “พระวิหาร” ในวัดมหาธาตุ ซึ่งนอกจากจะเป็นวัดเก่าแก่ ยังขนาบข้างระหว่างวังหลวงกับวังหน้า และเป็นสถานที่สำคัญที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับพระไตรปิฎก

เราตีความว่าพระเจ้าอยู่หัวเหมือนพระโพธิสัตว์ลงมาช่วยเหลือมนุษย์ พระเมรุมาศของพระองค์ท่านจึงสัมพันธ์กับวัด วัง เป็นการสื่อถึงพระโพธิสัตว์ในทางศาสนา” 

หากมองพระเมรุมาศจากกึ่งกลางของทางเข้านอกรั้วราชวัติในทิศเหนือ (หันหน้าเข้าวัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง) จะสามารถมองเห็นยอดพระศรีรัตนเจดีย์ซ้อนอยู่ในเมรุมาศบุษบกประธาน  เป็นความงดงามทางภูมิสถาปัตย์ที่มีความหมายพิเศษ  เป็นความตั้งใจของภูมิสถาปนิกกรมศิลปากร  ที่จัดวางผังเพื่อให้พระเมรุมาศ มีความหมาย งดงาม และยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
 

จากการกำหนดแนวแกนของพระเมรุมาศทำให้จัดสรรพื้นที่และจัดวางองค์ประกอบต่างๆ ของพระเมรุมาศ ดังนี้

ส่วนผังพื้นลานพระราชพิธีรอบพระเมรุมาศออกแบบในการตีความเชิงสัญลักษณ์ตามผังภูมิจักรวาล คือคติเขาพระสุเมรุที่ลานรอบพระเมรุมาศมีป่าหิมพานต์ และสระน้ำรอบคือ “สระอโนดาต” การจัดวางผังพระสุเมรุมาศในครั้งนี้ได้สร้างสระน้ำขึ้นจริงๆ รอบพระเมรุมาศทั้ง 4 มุม  การใช้น้ำเป็นองค์ประกอบหลักในการออกแบบ ประกอบกับป่าหิมพานต์ที่ใช้ต้นไม้ ไม้ดัด โขดหิน และประติมากรรมสัตว์หิมพานต์  เพื่อสื่อถึงความผูกพันระหว่างพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับ “น้ำ” เห็นได้ชัดจากโครงการพระราชดำริของพระองค์ที่ส่วนใหญ่เป็นโครงการเกี่ยวกับน้ำ
 

ส่วนลานบริเวณถัดออกมาออกแบบภูมิทัศน์เป็นสีทันดรมหาสมุทรและแสดงสัญลักษณ์ลายพื้นเป็น 4 จุด สื่อเป็นตัวแทนทวีปทั้งสี่  คือ ชมพูทวีป อุตตรกุรุทวีป อมรโคยานทวีป และบูรพวิเทหทวีป ซึ่งอยู่ล้อมเขาพระสุเมรุ ซึ่งอยู่ล้อมเขาพระสุเมรุที่อยู่ตรงกลาง เมื่อมองจากด้านบนจะเห็นได้ว่าการจัดวางผังพื้นที่เช่นนี้ขับเน้นบทบาทของพระเมรุมาศที่เป็นตัวแทนของเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นแกนกลางของโลกและเป็นที่ตั้งของสวรรค์
 

ภูมิทัศน์ด้านนอกนอกรั้วราชวัติทางทิศเหนือหรือด้านทางเข้าหลักของพระเมรุมาศ เน้นการจำลองบรรยากาศเชิงสัญลักษณ์ที่สื่อสะท้อนถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการพระราชดำริต่างๆ อาทิ บ่อแก้มลิง ติดตั้งกังหันชัยพัฒนา ฝายน้ำล้น นาข้าว พืชพันธุ์ที่ปลูกโดยรอบบริเวณ ได้แก่ หญ้าแฝก ต้นยางนา ต้นมะม่วงมหาชนก ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นพระอัจฉริยภาพ และการทรงงานอย่างหนักของพระองค์เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพสกนิกรไทย  
 

ส่วนองค์พระเมรุมาศก็ออกแบบให้มีลักษณะพิเศษ  พระเมรุมาศรัชกาลที่ 9 เครื่องยอดของบุษบกประธานเป็นชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น (เชิงกลอน หมายถึง ชั้นซ้อนหลังคาเครื่องยอดของปราสาท) ชั้นเชิงกลอน 7 ชั้นจะเป็นเครื่องยอดของอาคารที่เป็นมหาปราสาทอันเชื่อมโยงกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

จำนวนบุษบก 9 ยอดยังมีนัยยะสัมพันธ์กับเลข 9 อันเป็นเลขประจำรัชกาล นอกจากนี้ยังมีนัยเชื่อมโยงกับพระโคตมพุทธเจ้า อันเป็นปางอวตารที่ 9 ของพระนารายณ์  คติความเชื่อว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระนารายณ์อวตารยังปรากฏที่ฉากบังเพลิงที่วาดภาพพระนารายณ์อวตาร 8 ปางกับภาพโครงการในพระราชดำริ เพื่อให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นนารายณ์อวตารมาปราบทุกข์เข็ญของประชาราษฏร์อย่างเป็นรูปธรรมด้วยโครงการพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ
 

นอกเหนือจากการออกแบบพระเมรุมาศให้สัมพันธ์กับคติเทวราชาของฮินดูแล้ว บุษบกประธานยังออกแบบให้สัมพันธ์กับคติพุทธศาสนาที่เชื่อว่าพระมหากษัตริย์คือองค์พระโพธิสัตว์ที่จุติมาบนโลกเพื่อช่วยเหลือมนุษย์  ภายในชั้นเชิงกลอนแต่ละชั้นจะตกแต่งด้วยซุ้มบันแถลงใหญ่  ซุ้มบันแถลงน้อย  ซุ้มบันแถลงใหญ่ตรงกลางของชั้นที่ 7 ออกแบบให้มีประติกรรมรูปพระโพธิสัตว์

 

จากการประมวลแนวคิดในการออกแบบพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโดยสังเขปข้างต้น จะเห็นได้ว่าคณะผู้จัดสร้างพระเมรุมาศได้ทุ่มเทสติปัญญาและกำลังในการสร้าง พระเมรุมาศให้งดงาม ยิ่งใหญ่ และสื่อความหมายอันลึกซึ้ง สะท้อนให้เห็นความรัก ความจงรักภักดีที่จะส่งพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่ง เสด็จกลับสรวงสวรรค์อย่างสมพระเกียรติ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าธรรมเนียมปฏิบัตินี้ปรากฏอยู่ในสังคมไทยมาช้านานและจะคงอยู่สืบต่อไป เพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อสังคมและวัฒนธรรมไทย

 

รายการอ้างอิง

ธัชชัย ยอดพิชัย,นนทพร อยู่มั่งมี, ยุวดี ศิริ และอพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ. สู่ฟ้าเสวยสวรรค์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2560.

 

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2556.

 

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. เสด็จสู่แดนสรวง ศิลปะ ประเพณี และความเชื่อในงานพระบรมศพและพระเมรุมาศ. กรุงเทพฯ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ มิวเซียมสยาม, 2560.

 

(ตีพิมพ์ใน สารไทยศึกษา ปีที่ 19 ฉบับที่ 1 ตุลาคม – ธันวาคม 2560)