สำนวน “กรวดน้ำคว่ำกะลา” และ “ตรวจน้ำคว่ำกะลา”

เนื่องด้วยวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีตรงกับวันภาษาไทยแห่งชาติ  หน่วยงานต่างๆได้จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการเรียน การสอนรวมถึงการใช้ภาษาไทยในมิติต่างๆ คณะผู้จัดทำจึงใช้โอกาสนี้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสำนวนไทยบางสำนวน  ที่ปรากฏรูปเขียนหลายลักษณะจนทำให้เกิดความสับสนในการใช้ 

ในหนังสือสำนวนไทย ของขุมวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ปรากฏสำนวนที่มีความหมายว่า ตัดขาดไม่คบหาสมาคม อยู่สองสำนวนคือ "กรวดน้ำคว่ำกะลา" และ "ตรวจน้ำคว่ำกะลา" โดยได้ให้คำอธิบายความหมายของสำนวนทั้งสองไว้ว่า                                                          

“กรวดน้ำ” หรือ “ตรวจน้ำ” ตามที่ทำกันในปัจจุบันเป็นวิธีแผ่ส่วนกุศล  แต่ “กรวดน้ำ” ตามสำนวนนี้ไม่ใช่การแผ่ส่วนกุศล  เป็นวิธีปฏิบัติอย่างหนึ่งให้เห็นประจักษ์ว่าเป็นการทำด้วยน้ำใสใจจริง  อันได้ตั้งมั่นลงแน่นอนเด็ดขาดแล้ว  ใครกรวดน้ำอย่างนี้ก็แสดงว่าทำจริง เช่น พระเวสสันดรหลั่งน้ำประทานนางมัทรีให้กับพราหมณ์  หรือสมเด็จพระนเรศวรหลั่งน้ำประกาศอิสรภาพ

คำว่า “คว่ำกะลา” คำเดียวเป็นสำนวนมีความหมายอย่างเดียวกับ “คว่ำบาตร” คำ “คว่ำ” คำเดียวเป็นสำนวนใช้หมายถึง อาการที่แสดงออกมาด้วยความไม่พอใจ เช่น หน้าคว่ำ เป็นอย่างที่พูดกันว่าหน้าบอกบุญไม่รับ “คว่ำบาตร”แปลตามตัวว่าพระสงฆ์คว่ำบาตรของท่านเสีย ไม่รับของใส่บาตร เมื่อพระสงฆ์ไม่ได้ของจากใคร  ก็เท่ากับว่าผู้นั้นไม่ได้บุญ  เราก็เลยเอากิริยาที่พระสงฆ์ไม่รับบิณฑบาตมาใช้ในทางที่ว่า พระสงฆ์ท่านไม่ให้ผู้นั้นได้บุญร่วมด้วยกันเรียกว่า “คว่ำบาตร” คำนี้เลยกลายเป็นสำนวนใช้หมายถึงว่า ไม่คบหาสมาคมด้วย  คำว่า “คว่ำกะลา” มุ่งถึงกะลา อันเป็นภาชนะที่ใช้ใส่กรวดน้ำ ซึ่งเมื่อกรวดน้ำแล้วก็คว่ำกะลานั้นเสีย  เป็นการแสดงว่าเป็นเด็ดขาดจากกัน  ทำนองเดียวกับ “คว่ำบาตร” 

สำนวน “กรวดน้ำคว่ำกะลา” เป็นสำนวนที่ใช้กันทั่วไปทั้งนี้เพราะกะลาเป็นของต่ำ  เมื่อจะใช้เกี่ยวกับความไม่พอใจ จึงเอาคำ “กะลา” มาใช้ให้สม แต่การพูดการเขียนอาจจะเปลี่ยนเป็นภาชนะอื่นได้แล้วแต่จะเหมาะ เช่น กรวดน้ำคว่ำขัน กรวดน้ำคว่ำคะนน  หรืออะไรๆ อื่นซึ่งเป็นของโบราณๆ คำ “กรวดน้ำคว่ำกะลา” หรือคว่ำอะไรๆ เป็นสำนวนเต็ม  แต่ลางทีตัดพูดสั้นเพียง “กรวดน้ำ” ก็ใช้ได้เหมือนกัน

 

     ยังจะทำแสนงอนค้อนข้าฤา
ค้นมือจะใคร่ต่อยสักร้อยหน
กูจะตรวจน้ำคว่ำคะนน
ถึงยากจนขาดจากพี่น้องกัน

(สังข์ทอง  พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2)

 

     จึงว่าแก่สายทองจองจ้าน
ล้างตะพานบ้านเรือนเอาตีนสี
ได้ตรวจน้ำคว่ำกะลากันวนนี้
อันจะกลับคืนดีอย่าสงกา

(เสภาขุนช้างขุนแผน)                                   

 

ขุนวิจิตรมาตรายังได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องการใช้คำว่ากรวดน้ำ หรือตรวจน้ำในสำนวนนี้ว่า “ในภาษาเขมร มีคำ “จรวจ” ตัว จ สะกด แปลว่า เทน้ำอย่างหนึ่ง แปลว่า พุ่ง เช่นที่เราเอาใช้เป็น “จรวด… แต่คำ “จรวจ” ของเขมรนี้ เราเอามาใช้เป็น “ตรวจ” เช่น ตรวจตราอีก ฉะนั้นเขียน “กรวดน้ำ” ก็ถูกอีก เป็นอันว่าเขียน “กรวดน้ำ” ก็ได้หรือ “ตรวจน้ำ” ก็ได้ทั้ง ๒ อย่าง โบราณจึงใช้ทั้งสองคำ

ปัจจุบันสังเกตได้ว่าการใช้คำว่า “ตรวจ” คู่กับคำว่าน้ำโดยนัยความหมายเดียวกับกรวดน้ำได้หายได้ไป  ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๕๔ ปรากฏคำว่า “กรวดน้ำ” ด้วยการสะกดเพียงลักษณะเดียว  แต่ยังคงความหมายของสำนวน “กรวดน้ำคว่ำกะลา” หรือ “กรวดน้ำคว่ำขัน” ว่า “ตัดขาดไม่ขอข้องเกี่ยวด้วยกัน”

 

รายการอ้างอิง

ขุนวิจิตรมาตรา[สง่า กาญจนาคพันธุ์]. สำนวนไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น), 2538. 

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระมหาพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554. กรุงเทพฯ:ราชบัณฑิตยสถาน, 2556.

 

(ตีพิมพ์ใน สารไทยศึกษา ปีที่ 17 ฉบับที่ 4 กรกฎาคม-กันยายน 2559)