การสร้างความสุขในผู้สูงอายุ : การใช้เวลาว่างของผู้สูงอายุ

รองศาสตราจารย์ ดร.พรทิพย์ เกยุรานนท์

 

บรรณาธิการวารสารสุขภาพกับการจัดการสุขภาพ วิทยาลัยเซ็นหลุยส์

 

 

การใช้ชีวิตเมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ เป็นสิ่งที่คนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ต้องคำนึงว่า “จะทำอย่างไรให้ชีวิตที่เหลืออยู่มีความสุข มีคุณค่า และมีประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” ความสุขเป็นปัจจัยที่เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญที่สุดของการมีชีวิตอยู่ของผู้สูงอายุในยามที่ทุกอย่างเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ ผู้สูงอายุจะต้องพิจารณาและใคร่ครวญเกี่ยวกับชีวิตที่เหลืออยู่ของตนเองว่า ต้องการทำอะไร อย่างไร ให้ชีวิตตนเองมีความสุข ความสุขที่แท้จริงที่ต้องการนั้นคืออะไร สภาพของตนเองขณะนี้เป็นอย่างไร ต้องทำใจให้ยอมรับกับสภาพการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนไปของตนเอง ไม่ว่าสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยและปัญหาโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น จิตใจ  อารมณ์  บทบาทหน้าที่ในครอบครัวและสังคม ฐานะทางสังคมและทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทำให้ผู้สูงอายุหลายคนเกิดปัญหานานาประการในการดำรงชีวิต จึงต้องปรับวิกฤตให้เป็นโอกาสแก่ตนเอง เอาสิ่งที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น เพื่อสร้างความสุขในการดำรงชีวิตของตนและการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม

 

การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เป็นวิธีการหนึ่งที่มีความสำคัญที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขในชีวิตของตนเองได้ ด้วยการบริหารเวลาในชีวิตของตนที่เหลืออยู่โดยการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เพื่อให้เกิดความสนุก เพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ลดความเครียดและความวิตกกังวล ไม่หดหู่ ไม่เหงา ไม่เศร้าซึม รู้สึกตนเองมีประโยชน์และมีคุณค่า มีกำลังใจในการดำเนินชีวิต สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาได้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มรายได้ของตนและครอบครัว สุขภาพดีขึ้น สามารถดูแลตนเองได้ และใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพของตน กิจกรรมการใช้เวลาว่างในวัยนี้ ได้แก่ 1) การทำงานอดิเรกต่างๆ ที่ตนเองชื่นชอบและเหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกายของตนเอง  เช่น กิจกรรมการเกษตร กิจกรรมบันเทิงต่างๆ การออกกำลังกาย การทำศิลปหัตถกรรมต่างๆ เป็นต้น 2) การทำกิจกรรมทางศาสนา เช่น การสวดมนต์ การไปปฏิบัติธรรมตามความเชื่อทางศาสนา ฯลฯ 3) การทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ 4) กิจกรรมทัศนศึกษา 5) กิจกรรมเพิ่มพูนความรู้และทักษะตามความสนใจ  6) การช่วยทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ตามสมรรถภาพที่เป็นอยู่ 7) การประกอบอาชีพเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่ทำได้  หรือการไปช่วยทำงานในหน่วยงานต่างๆ บางเวลาตามความรู้ความเชี่ยวชาญของตน   กิจกรรมที่กล่าวมามีทั้งความเพลิดเพลิน คลายเหงา ผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ ได้รายได้เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความพึงพอใจ และมีความสุขในที่สุด แถมยังเกิดประโยชน์ต่อครอบครัวและสังคมอีกด้วย

 

นอกจากการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แล้ว ผู้สูงอายุยังต้องการปรับตัวในด้านต่างๆ ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ดูแลสุขภาพ และสร้างอารมณ์ขันให้กับตนเอง แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว ทั้งนี้ ครอบครัวและสังคมต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนในการดูแลผู้สูงอายุให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ก็จะทำให้ครอบครัวอบอุ่นและสังคมไทยน่าอยู่ตามแบบวิถีไทย

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วิถีไทยกับการใช้เวลาว่าง" วันที่ 15 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ เพลินจิต สุขุมวิท กรุงเทพฯ จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)