การใช้เวลาว่างของชนชั้นนำในสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6

อาจารย์พรรณราย ชาญหิรัญ

 

คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

 

จากพระราชนิพนธ์ เสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระราชนิพนธ์ จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พบว่ามีการบันทึกกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจของชนชั้นนำสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 โดยเป็นการพักผ่อนหย่อนใจแบบตะวันตกที่ชนชั้นนำสยามรับเข้ามาเพื่อแสดงถึงความศิวิไลซ์ ยกตัวอย่างกิจกรรมที่พบ ได้แก่ การถ่ายรูป การปรุงและรับประทานอาหาร การท่องเที่ยวสำรวจตามสถานที่ต่างๆ การชมสิ่งของ บุคคล หรือกิจกรรมที่มีลักษณะพิเศษ การชมหรือเปิดการแสดงละครนอกวัง การปฏิสันถารกับราษฎร รวมทั้งการปลอมพระองค์  การใช้เวลาว่างของชนชั้นนำในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 จึงเป็นการเปิดโลกทัศน์การใช้เวลาว่างแบบใหม่คือการนำการพักผ่อนหย่อนใจแบบตะวันตกเข้ามาปรับใช้กับชนชั้นนำ อันแสดงถึงสถานภาพที่แตกต่างจากกลุ่มคนอื่นในสังคม

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วิถีไทยกับการใช้เวลาว่าง" วันที่ 15 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ เพลินจิต สุขุมวิท กรุงเทพฯ จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)