การใช้เวลาว่างของวัยทำงานในกรุงเทพมหานคร

อานนท์ จันทวิช

 

ผู้อำนวยการสำนักสถิติเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานสถิติแห่งชาติ

 

 

จากการประชุมว่าด้วยเรื่องสตรีระดับโลก ครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้น ณ  กรุงปักกิ่ง เมื่อ พ.ศ. 2538ได้มีการกำหนดแผนปฏิบัติการที่เน้นให้เห็นถึงความจำเป็นที่แต่ละประเทศจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบการทำงานของประชากรให้ชัดเจนขึ้น การเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับการใช้เวลา เริ่มจากความสนใจสภาพความเป็นอยู่ของประชากรตลอดจนสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในประเทศที่พัฒนาแล้วได้จัดทำการสำรวจการใช้เวลามาตั้งแต่ พ.ศ. 2503 โดยทำการสำรวจเกี่ยวกับสภาพการดำรงชีวิตของประชากรในกลุ่มผู้ทำงาน และศึกษาเกี่ยวกับเวลาว่างที่ทำให้ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การสำรวจเช่นนั้นจึงได้มุ่งไปในเรื่องการจัดสรรเวลาของประชากรที่เกี่ยวกับการทำงานที่มีรายได้ การทำงานบ้านและงานที่เกี่ยวกับการดูแลสมาชิกในครัวเรือน รวมทั้งมุ่งประเด็นไปที่บทบาทของผู้หญิงที่ทำงานในครัวเรือน ประเทศที่กำลังพัฒนาการศึกษาเกี่ยวกับการใช้เวลาได้มีการศึกษาเพียงบางเรื่องและเฉพาะพื้นที่ โดยไม่ได้ครอบคลุมการใช้เวลาตลอด 24 ชั่วโมง และวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่ของการจัดทำเพื่อปรับปรุงการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการใช้เวลาทำงานที่ไม่มีรายได้ เนื่องจากเล็งเห็นว่าการสำรวจนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำมาใช้ในการปรับปรุงการคำนวณและการหาค่าของงานที่มีรายได้และไม่มีรายได้ นอกจากนี้ยังทำให้มองเห็นบทบาทของผู้หญิงที่ทำงานในบ้านและนอกบ้านด้วย

 

สำหรับประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำการสำรวจขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2544 โดยได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญขององค์การสหประชาชาติมาให้คำแนะนำในการออกแบบข้อถาม และระเบียบวิธีการเลือกตัวอย่างเบื้องต้น พร้อมทั้งแนะนำการจำแนกกิจกรรมการใช้เวลาของประเทศไทย และสอดคล้องกับการจำแนกรหัสขององค์การสหประชาชาติ (UN)  การสำรวจครั้งที่ 2 ได้ดำเนินการในเดือนสิงหาคม 2547 การสำรวจครั้งที่ 3 ได้ดำเนินการในเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2552 และการสำรวจครั้งที่ 4 ได้ดำเนินการเดือนกรกฎาคม 2557 – มิถุนายน 2558

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วิถีไทยกับการใช้เวลาว่าง" วันที่ 15 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ เพลินจิต สุขุมวิท กรุงเทพฯ จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)