พุทธศิลป์พื้นถิ่นอีสาน : วิถีพุทธ วิถีสุข

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิสิทธิ์  กอบบุญ

 

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

 

พุทธศิลป์พื้นถิ่นอีสานเป็นศิลปะของคนพื้นถิ่นอีสานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เป็นเครื่องมือทางศิลปะอย่างหนึ่งที่สามารถทำให้เราเข้าใจความคิด ชีวิต และวิถีวัฒนธรรมของคนในอดีตได้ และวิถีวัฒนธรรมนั้นได้ส่งต่อความสำคัญและมีบทบาทมาจนถึงปัจจุบัน บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาพุทธศิลป์พื้นถิ่นอีสาน ผลการศึกษาพบว่า พุทธศิลป์พื้นถิ่นอีสานมีความสำคัญในวิถีวัฒนธรรมของชาวอีสานอย่างยิ่ง ในแง่หนึ่งพุทธศิลป์พื้นถิ่นอีสานสะท้อนให้เห็นความคิด ชีวิต และวัฒนธรรมของคนอีสานในอดีต และอีกแง่หนึ่งพุทธศิลป์พื้นถิ่นอีสานยังมีบทบาทในวิถีชีวิตของคนอีสานในปัจจุบันด้วยเช่นกัน พุทธศิลป์พื้นถิ่นอีสานนำเสนอให้เห็นอัตลักษณ์ของคนอีสานที่มีวิถีชีวิตเรียบง่ายโดยมีพระพุทธศาสนาเป็นหลักยึด ในขณะเดียวกันการสร้างสรรค์พุทธศิลป์อย่างประณีตก็สะท้อนให้เห็นความสุขในวิถีพุทธธรรมที่ลึกซึ้ง พุทธศิลป์พื้นถิ่นอีสานมิใช่เพียงการแสดงให้เห็นวิถีชีวิตที่มีความสุขสนุกสนานเท่านั้น แต่ยังสื่อถึงอุดมการณ์ ความเชื่อความศรัทธา และหลักพุทธธรรมที่ลึกซึ้งแยบคาย นอกจากนี้พุทธศิลป์ในอดีตสามารถเชื่อมโยง และสร้างความสุขให้กับคนอีสานในปัจจุบันได้เช่นเดียวกัน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วิถีแห่งความสุขชุมชน" ระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน 2558 ณ โรงแรมอมรินทร์ลากูน จังหวัดพิษณุโลก  จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร)