วิถีแห่งความสุขของชาวพุทธ

อาจารย์สุภีร์ ทุมทอง

 

วิปัสสนาจารย์ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย

 

 

"ความสุข” เป็นธรรมะ เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวใคร ไม่ใช่ของใคร เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งไร้เจ้าของ เป็นสิ่งที่ไม่เป็นไปตามปรารถนาของใคร ไม่เอาใจใคร ไม่แกล้งใคร เป็นไปตามเงื่อนไขของมัน เป็นของมันอย่างนั้น ไม่เป็นอื่นไปจากนั้น ตามหลักแห่งธรรมทั้งปวงที่ว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา

 

หากแบ่งย่อๆ ความสุขมี 3 ระดับ ได้แก่

 

(1) กามสุข ความสุขที่เกิดจากได้รับอารมณ์ที่น่าพอใจ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

 

(2) สมาธิสุข ความสุขที่เกิดจากการออกจากความวุ่นวายทางโลก มาฝึกจิตให้มีความสามารถที่จะอยู่ได้อย่างเป็นสุข บางครั้งเรียกเนกขัมมสุข หรือฌานสุข

 

(3) นิพพานสุข ความสุขที่เป็นความดับสนิทไปของทุกข์ เป็นภาวะที่ไร้ทุกข์

 

วิถีแห่งความสุขของชาวพุทธ พระพุทธเจ้าทรงสอนพุทธบริษัทใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตั้งแต่เริ่มต้น และพัฒนาความสุขขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่หยุดอยู่กับที่ จนเข้าถึงสุขขั้นสูงสุด ทำให้ไม่อาจกลับมาเป็นทุกข์ได้อีก ความสุขสูงสุดนั้นเข้าถึงได้ด้วยทางที่เต็มไปด้วยความสุข ทางนั้นคือ อริยมรรคมีองค์ 8 อันเป็นทางให้เข้าถึงภาวะไร้ทุกข์ มีสัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า

 

เริ่มจากให้มีความสุขในชีวิตธรรมดา เสวยกามสุข เช่น สุขจากการมีทรัพย์ สุขจากการใช้จ่ายทรัพย์ สุขจากการไม่เป็นหนี้ สุขจากการทำสิ่งที่ไม่เป็นโทษ โดยทรงแสดงเงื่อนไขต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความสุขเหล่านี้

 

ต่อจากนั้น ให้รู้จักข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นข้อจำกัดของกามสุขว่า เป็นสิ่งไม่แน่นอน ไม่อาจจะให้ความสุขที่สมบูรณ์เต็มอิ่ม ลำบากทั้งด้านการแสวงหา การเก็บรักษา และการแย่งชิงกัน ให้รู้จักสุขที่สูงกว่านั้น คือสุขที่เกิดจากความเบิกบานเอิบอิ่มทางใจ ด้วยการทำคุณความดี มีศีล พัฒนาคุณธรรมต่างๆ และการทำสมาธิ ฝึกจิตให้มีความสุขเกิดภายในจิต โดยไม่ต้องพึ่งพิงวัตถุภายนอก

 

ต่อจากนั้น ให้รู้จักข้อเท็จจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลง คือ อริยสัจ 4 เมื่อรู้ข้อเท็จจริง ก็เลิกที่จะยึดถือเอาตามความอยากและตามความคิดของตน อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ไม่มี ทุกข์ก็ไม่มี เข้าถึงภาวะไร้ทุกข์ คือนิพพาน ไม่กลับมาทุกข์อีก ไม่มีสุขอะไรจะสูงไปกว่านี้ ดังบาลีว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง

 

วิธีปฏิบัติต่อทุกข์และสุขมีหลักดังนี้ (1) ไม่เอาทุกข์มาทับถมตนที่ไม่ได้เป็นทุกข์ (2) ไม่สละสุขที่ชอบธรรม (3) ไม่หมกมุ่นแม้ในสุขที่ชอบธรรมนั้น (4) เพียรพยายามละเหตุแห่งทุกข์ให้หมดไป

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วิถีแห่งความสุขชุมชน" ระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน 2558 ณ โรงแรมอมรินทร์ลากูน จังหวัดพิษณุโลก  จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร)