เวลาว่างในประสบการณ์ของผู้มีอาชีพสายวิทยาศาสตร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ถนอม มานะประเสริฐ

 

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ด้วยเหตุที่วิชาแพทย์เป็นวิชาสายวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นแขนงหลักร่วมกับสายศิลปะ-สังคม เป็นการศึกษาหลักของสังคมไทยในยุคปัจจุบัน ผู้เรียนที่เลือกเรียนสายใดสายใด มักจะหันหัวเรือออกจากอีกสาขาหนึ่งตลอดทั้งชีวิต เพราะจะไม่มีพื้นฐานความรู้ของอีกแขนงหนึ่ง แต่ด้วยสาเหตุที่ข้าพเจ้าสนใจศึกษางานศิลปะเป็นการส่วนตัว จึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ ศาสตรเมธี ปัญญา เพ็ชรชู เมื่อ 23 ปีก่อน อาจารย์ปัญญาได้ชักนำให้รู้จักช่างหล่อพระพุทธรูปผู้อาวุโสแห่งชุมชนบ้านช่างหล่อ คือ คุณลุงบุญเรือน หงส์มณี ตั้งแต่แรกเป็นส่วนตัว เนื่องจากไปเยี่ยมเยือน รับประทานอาหารค่ำ น้ำพริกปลาทู ที่บ้านคุณลุงบุญเรือนเป็นประจำ จนกระทั่งเมื่อราว 3 – 4 ปีก่อน คุณลุงบุญเรือนปรารภว่า อายุมากแล้ว (80 กว่าปี)  เป็นโรคเบาหวาน เจ็บออดแอดๆ มายาวนาน ก่อนที่จะจากไป อยากให้ข้าพเจ้าช่วยบันทึกประวัติศาสตร์ช่างหล่อพระพุทธรูปแห่งบ้านช่างหล่อไว้ให้ เพราะเกรงว่าจะไม่มีผู้รู้ที่มีชีวิตอยู่ในสมัยรุ่งเรืองของบ้านช่างหล่อในช่วง พ.ศ. 2500 อีกแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ไปปรึกษานักวิชาการประวัติศาสตร์ให้มาช่วยบันทึก แต่จากการหารือพบว่า นักวิชาการส่วนใหญ่จะมองเป็นประเด็นวิจัยเฉพาะจุดไป ไม่ใช่การบูรณาการรวบรวมข้อมูลเพื่อบันทึกภาพรวมแบบการบันทึกพงศาวดารอีก เพราะไม่ใช่ประเด็นวิจัยและจะไม่ได้รับทุนวิจัยสนับสนุน ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจบันทึกเองโดยใช้หลักการและเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์

 

เมื่อได้ฟังข้อมูลจากคุณลุงบุญเรือน ข้าพเจ้าก็ได้ตรวจสอบเพิ่มเติมจากตลาดพระใหญ่ทุกแห่ง ทั้ง ตลาดท่าพระจันทร์ ตลาดพันทิพย์-งามวงศ์วาน พบว่า พระพุทธรูปที่บ้านช่างหล่อสร้างในอดีตงดงามเทียบได้กับช่างหลวงโบราณสมคำร่ำลือว่างามสุดในแผ่นดินเป็นความจริง ในช่วงตั้งแต่รัชกาลที่ 6 จนถึงรัชกาลที่ 9 อีกทั้งมีราคาแพงเป็นที่แสวงหากันในตลาดพระ แต่ไม่ว่าจะตรวจสอบอย่างไร ก็ไม่พบผลงานพระพุทธรูปของบ้านช่างหล่อ ในช่วงรัชกาลที่ 1 – 5 เลย ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก เมื่อสอบถามจากคุณป้าน้อยซึ่งเป็นประธานชุมชนของบ้านช่างหล่อ เล่าว่าจากประวัติศาสตร์บอกเล่า บ้านช่างหล่อสืบทอดฝีมือช่างจากช่างหล่ออยุธยาที่อพยพมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสิน ข้าพเจ้าจึงเกิดความสงสัยมากมาย เพราะ ถ้าหากสืบทอดต่อเนื่องจริงก็เป็นไปไม่ได้ที่ไม่ปรากฏผลงานจากบ้านช่างหล่อเลยในรัชกาลที่ 1 – 5  จำนวนและปริมาณพระพุทธรูปที่บ้านช่างหล่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงรัชกาลที่ 9 ที่มีจำนวนมากมายทั่วประเทศเกิดขึ้นได้อย่างไร ความรู้ภูมิปัญญาการหล่อโลหะแบบโบราณ เป็นวิชาที่ยากที่สุดในอดีต ต้องสืบทอดจากการสอนเท่านั้น ใครเป็นคนถ่ายทอดวิชานี้ คุณลุงบุญเรือนเล่าว่า ครูช่างแห่งบ้านช่างหล่อที่ถ่ายทอดวิชาหลักมี 3 ท่าน คือ นายเจริญ พัฒนางกรู นางวัน สุทัศน์ ณ อยุธยา และนายชิต ชื่นประสิทธิ์ โดยส่วนใหญ่จะศึกษาจาก นายเจริญ พัฒนางกรู ( เกิด พ.ศ. 2403 – ถึงแก่กรรม พ.ศ. 2474) แห่งโรงหล่อพัฒนช่าง บ้านช่างหล่อ ได้รับการเคารพเป็นปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ยิ่งทำให้ข้าพเจ้ายิ่งเกิดความสงสัยเพิ่มขึ้นอีกว่า ครูช่าง 3 ท่านนี้ มีฝีมือเก่งกาจเทียบเท่าช่างหลวงได้อย่างไร ท่านเป็นใคร มาจากไหน มีฝีมือสูงส่งขนาดนี้ทำไมไม่ปรากฏผลงานเลยในสมัยรัชกาลที่ 5 คุณลุงบุญเรือนเองก็ไม่ทราบ แต่ให้ไปค้นที่หอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ข้าพเจ้าจึงตามไปค้นคว้าว่า เกิดอะไรขึ้นกับช่างหล่อพระพุทธรูปของสยามในสมัย รัชกาลที่ 1 – 6 ตามไปดูป้ายสุสานของช่างหล่อที่ถึงแก่กรรมไปแล้วตามวัดต่างๆในบ้านช่างหล่อ ตามไปที่ทายาทโรงหล่อของช่างทั้ง 3 ท่าน และก็มาขอความช่วยเหลือจาก สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึงปัจจุบัน การบันทึกยังไม่แล้วเสร็จ แต่ทำให้เกิดความเข้าใจประวัติศาสตร์เพิ่มมากขึ้น  ความสงสัยของข้าพเจ้าเกิดขึ้นย้อนกลับไปสู่อยุธยาจนถึงก่อนการตั้งถิ่นฐานของรัฐสยาม และมุ่งมาข้างหน้าว่ากระบวนการการผ่องถ่ายการสืบทอดวิชาช่างหลวงโบราณจากกรมช่างสิบหมู่สู่กำเนิดโรงเรียนเพาะช่าง ที่เกิดขึ้นอย่างอย่างลำบาก ด้วยความพยายามถึง 2 ครั้ง เกิดขึ้นอย่างไร จึงค้นพบว่า การจัดตั้งการศึกษาช่าง เป็นเพราะทรงพระปรีชาสามารถและทรงรับเป็นพระราชธุระอย่างมากในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระผู้ทรงพระราชทานกำเนิดการศึกษาช่างสำเร็จได้ ก่อนเสด็จสวรรคตเพียง 2 เดือน ซึ่งยังไม่มีผู้ใดทราบมาก่อน

 

สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ประวัติศาสตร์คือการดำรงชีวิตในอดีต ไม่ได้เกิดขึ้นจากความตั้งใจ ไม่ใช่ละครที่เขียนบทล่วงหน้า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต ล้วนเกิดเพราะต้องการมีชีวิตรอด เรื่องราวต่างๆเป็นผลตามมา ที่เกิดจากเหตุการณ์นำ ที่มักจะมาจากศูนย์กลาง คือ ราชสำนัก และ พระมหากษัตริย์ เอกลักษณ์แห่งชนชาติ วัฒนธรรมประเพณีแห่งชนชาติ เกิดขึ้นเพราะราชสำนัก และ พระมหากษัตริย์ ดังนั้นถ้าจะดำรงความเป็นเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง ก็จำเป็นที่ต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางของชนชาติ ไม่เช่นนั้นแล้ว ก็จะถูกกลืนไปเป็นคนในวัฒนธรรมอื่นตลอดกาล

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วิถีไทยกับการใช้เวลาว่าง" วันที่ 15 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ เพลินจิต สุขุมวิท กรุงเทพฯ จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)