เวลาว่างในวิถีของอาจารย์มหาวิทยาลัย

อาจารย์ ดร.ชนกพร พัวพัฒนกุล

 

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

อาจารย์มหาวิทยาลัย หมายถึง ผู้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เรื่อง มาตรฐานภาระงานทางวิชาการของผู้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2558 กำหนดให้อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องมีมาตรฐานภาระงาน 5 ด้าน ได้แก่ ภาระงานสอน งานวิจัยและงานวิชาการอื่น งานบริการวิชาการ งานทํานุบํารุงศิลปวัฒนธรรม และงานอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับพันธกิจของสถาบันอุดมศึกษา รวมกันแล้วไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง เวลาว่าง (Leisure) ของอาจารย์มหาวิทยาลัย จึงหมายถึงเวลาอิสระและว่างเว้นจากการทำงานทั้ง 5 ด้านดังกล่าว จากการศึกษาด้วยแบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึกพบว่า กิจกรรมที่อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยแต่ละเพศและวัยเลือกทำในเวลาว่างนั้นไม่แตกต่างจากคนในสังคมที่ประกอบอาชีพอื่นๆ มากนัก เช่น ใช้เวลากับครอบครัวหรือคนรัก พบปะสังสรรค์ รับประทานอาหาร พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อน (โลกออนไลน์-โลกจริง) จับจ่ายซื้อของ เล่นกีฬา ท่องเที่ยวเดินทาง ทำกิจกรรมกลางแจ้ง ฟังเพลง ดูละคร-ภาพยนตร์-คลิปวิดีโอที่สนใจ ทำขนม อาหาร งานฝีมือ ศิลปะ ปฏิบัติธรรม ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ อ่าน-เขียนหนังสือ เล่นเกม เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปผ่านสื่อต่างๆ (เป็นผู้ดูแล Facebook Fan Page และทำสถานีในเว็บไซต์ YouTube) อย่างไรก็ดีจากการสัมภาษณ์พบว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยบางส่วนมองว่าภาระงานแต่ละด้านของอาจารย์ บางครั้งไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่ใช้ปฏิบัติงานให้แน่นอนลงไปได้ ทำให้ต้องใช้เวลาว่างไปกับการทำงาน จนดูเหมือนไม่มีเวลาว่างและไม่อาจสร้างสมดุลในชีวิตและการทำงาน (Work-Life Balance) ได้ อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยจึงเลือกระบายออกด้วยการรวมกลุ่มกันในสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เพจอาจารย์ไหวมั้ย เพจเพราะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยจึงเจ็บปวด เป็นต้น นอกจากนี้ เนื่องจากในสังคมไทยมักคาดหวังให้อาจารย์ โดยเฉพาะอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องเป็นผู้มีความรู้ มีความรับผิดชอบ เป็นผู้เสียสละ และเป็นแบบอย่างความประพฤติอยู่ตลอดเวลา ทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยมีความคาดหวังต่อตนเองค่อนข้างสูง จนบางครั้งกลายเป็นความรู้สึกเปรียบเทียบ แข่งขัน และอาจถึงขั้น  “รู้สึกผิด” เมื่อใช้เวลาว่างที่มีให้ผ่านไปอย่าง “ไร้สาระ” และไม่มีผลิตภาพ (productivity) อย่างที่ควรจะเป็น ขณะเดียวกันก็มีอาจารย์บางส่วนที่ยอมรับว่ามักเลือกนำเสนอเฉพาะวิถีการใช้เวลาว่างที่สอดคล้องกับความคาดหวังของคนในสังคมทั่วไปผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อเสริมภาพลักษณ์เชิงบวกและหลีกเลี่ยงคำวิจารณ์ว่าปฏิบัติตน “ไม่สมกับเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย”

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "วิถีไทยกับการใช้เวลาว่าง" วันที่ 15 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ เพลินจิต สุขุมวิท กรุงเทพฯ จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)