กล่าวนำ (การประชุมวิชาการระดับชาติ – ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มีความหลากหลายด้านชาติพันธุ์ เป็นภูมิภาคที่น่าสนใจศึกษาเรียนรู้และทำความเข้าใจสมบัติทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนไท-ไทย ความเป็นชาติพันธุ์สามารถพิจารณาได้หลายมุมมอง แต่การศึกษาภูมิหลังของวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของกลุ่มคนชาติพันธุ์ต่างๆ นั้น จำเป็นต้องศึกษาความเชื่อและศาสนา ซึ่งชี้นำแนวทางในการดำรงชีวิตของผู้คนท้องถิ่น ตั้งแต่การนับถือผีบรรพบุรุษ ผีบ้าน ผีเมือง เทวดาอารักษ์ จนถึงการนับถือพุทธศาสนาแบบผสมกลมกลืนกับความเชื่อดั้งเดิม ซึ่งแสดงให้เห็นพลวัตทางวัฒนธรรม การยอมรับ ปรับเปลี่ยน และการผสานความเชื่อให้เข้ากับวิถีชีวิต สภาพภูมิศาสตร์ และเอกลักษณ์ของชุมชน โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงดำริจัดการประชุมวิชาการระดับชาติในหัวข้อ “ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง” เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับเผยแพร่ความรู้และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณลุ่มน้ำโขง อันเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความเข้าใจพลวัตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นลุ่มน้ำโขง และเพื่อพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือวิชาการด้านไทยศึกษาไปยังนักวิชาการและนักวิจัยส่วนภูมิภาค

 

สถาบันไทยศึกษา ใคร่ขอขอบคุณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร ที่ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ อันจะทำให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการและจักช่วยส่งเสริมให้สังคมไทยได้รับรู้และตระหนักถึงความหลากหลายของวัฒนธรรมท้องถิ่น อันจะสร้างความเข้าใจระหว่างกลุ่มคนและการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุขยั่งยืน

 

 

รองศาสตราจารย์ ดร. สุจิตรา จงสถิตย์วัฒนา

 

ผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย