การจัดการสุขภาพชนเผ่ากะเหรี่ยง

นิติศักดิ์ โตนิติ

 

สถาบันปัญญาปีติ จังหวัดแม่ฮ่องสอน

 

 

ปัจจุบันการจัดการสุขภาพของชนเผ่ากะเหรี่ยง ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยอาศัยวิถีการดำรงชีวิต ความเชื่อ พิธีกรรม และการใช้สมุนไพร จากกรณีศึกษา การจัดการเรียนรู้แก่เด็กผู้เรียน ในศูนย์การเรียนหญ้าแพรกสาละวิน   พบปรากฏการณ์สำคัญที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสุขภาพของคนในชุมชน คือ 1) การเปลี่ยนแปลงการบริโภคอาหาร ซึ่งเปลี่ยนจากการกินอาหารตามธรรมชาติ เป็นการกินอาหารที่ได้จากซื้อหาจากเมือง 2) การลดลงของพืชและสัตว์อาหารจากป่าและน้ำ กว่า 90 ชนิด ซึ่งเดิมมีให้ปริมาณมากพอให้ชุมชนสามารถพึ่งพาเป็นแหล่งอาหารตามฤดูกาลของชุมชน 3) การลดลงของชนิดพืชในไร่หมุนเวียน เนื่องจากการขาดแคลนแรงงานในการผลิต (คนหนุ่มสาวออกไปศึกษาต่อและทำงานนอกชุมชน) และมีการใช้พื้นที่ปลูกพืชที่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น พริกกะเหรี่ยงเพิ่มมากขึ้น 4) มีการพึ่งพาการรักษาโรค จากการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน และเบิกยาจาก อสม.ประจำชุมชนมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการเก็บรวบรวมข้อมูลประสบการณ์การใช้ประโยชน์จากป่า การใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพร ตามองค์ความรู้ภูมิปัญญาของ สามารถรวบรวมสมุนไพรที่มีการใช้ตามภูมิปัญญาชุมชน จำนวน 66 ชนิด  จำแนกตามสรรพคุณที่ใช้บำบัดอาการของโรคได้ 13 กลุ่มอาการ

 

จากสถานการณ์ดังกล่าว ประเด็นสำคัญของการจัดการสุขภาพของชนเผ่ากะเหรี่ยง ให้เกิดความอยู่ดี มีสุข จึงเกี่ยวข้องโดยตรงต่อความอุดมสมบูรณ์ของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ที่เกี่ยวข้องกับระบบอาหาร และโอกาสในการพึ่งพาตนเองเพื่อลดรายจ่าย และสร้างรายได้ ทางศูนย์การเรียนหญ้าแพรกสาละวิน จึงมุ่งการจัดการศึกษาบนฐานวิถีชีวิตให้เกิดการยกระดับองค์ความรู้เดิม เชื่อมต่อกับความรู้วิทยาการสมัยใหม่ เพื่อจัดการทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ “ป่าดี น้ำดี มีอยู่ มีกิน มีรายได้”

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการ "การรักษาโรคกับการใช้ยาสมุนไพรในวัฒนธรรมไทย-ไท (2017 Chulalongkorn Thai-Tai Heritage Forum: Healing and Herbal Medicine) ระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน 2560 ณ โรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยและอาเซียนศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITAS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมไทย สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง)