การช่วงชิงพื้นที่หลังความตายกับพิธีกรรมบูชาผีบรรพบุรุษในวัดพระธาตุเชิงชุม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปกกสิณ ชาทิพฮด

 

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

 

 

บทความนี้มุ่งศึกษาการช่วงชิงพื้นที่หลังความตายในพิธีกรรมบูชาผีบรรพบุรุษที่ปรากฏอยู่ในวัดพระธาตุเชิงชุม วัดพระธาตุเชิงชุมมีความสำคัญในฐานะที่เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสกลนครมาแต่โบราณตามที่ปรากฏในอุรังคนิทาน และเป็นศูนย์รวมของความมั่นคงทางใจของชาวสกลนคร โดยมีประเพณีนมัสการพระธาตุตรงกับขึ้น 11 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ เดือนยี่ของทุกปี ด้วยความที่วัดพระธาตุเชิงชุมเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาและเป็นศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ จึงทำให้เป็นสถานที่ในการประกอบพิธีกรรมหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะการบรรจุอัฐิไว้ภายในกำแพงวัด เพราะเชื่อว่าบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่ทำหน้าที่รักษาพระธาตุ (ข้าพระธาตุ) การบูชาผีบรรพบุรุษมักจะปฏิบัติสอดคล้องตามบุญประเพณีของฮีตสิบสอง คือ บุญข้าวประดับดินและบุญข้าวสาก และประเพณีนมัสการพระธาตุประจำปี ซึ่งแนวปฏิบัติต่างๆ ในพิธีกรรมได้ฉายภาพของการช่วงชิงพื้นที่ทางวัฒนธรรมและอำนาจทางสังคมและเศรษฐกิจของกลุ่มชนหลายกลุ่มที่ต้องการสร้างสำนึกร่วมโดยใช้ศาสน-สถานศักดิ์สิทธิ์เป็นพื้นที่ของการแสดง อีกทั้งเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสังคมวัฒนธรรมของกลุ่มชนใหม่ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในสกลนคร

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "ความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนาน กับชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง" ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2559 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร จัดโดย โครงการวิวัฒน์ไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร)