การดำรงอยู่ของพิธีบูชาเสาอินทขีล: การผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมและพุทธศาสนาในพิธีกรรมปัจจุบัน

พิมพ์นภัส จินดาวงค์

 

คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

 

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาวิเคราะห์ลักษณะการดำรงอยู่ของพิธีบูชาเสาอินทขีลในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหนึ่งในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบูชาอารักษ์เมืองเชียงใหม่ที่สืบทอดมาแต่อดีต เพื่อชี้ให้เห็นถึงลักษณะการผสมผสานของความเชื่อดั้งเดิมกับพุทธศาสนาที่ปรากฏในพิธีกรรมทั้งในระดับรูปธรรม คือส่วนที่สามารถมองเห็นได้ เช่น พื้นที่ เครื่องสักการะ การแสดงในพิธี ฯลฯ และในระดับนามธรรม คือ ความเชื่อ การให้คุณค่า ความหมาย ผลการศึกษาวิเคราะห์พบว่า ทั้งในระดับรูปธรรมและนามธรรม พุทธศาสนาได้เข้ามามีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ในลักษณะของการแทรกซึมรวมเข้าไปกับความเชื่อดั้งเดิม จนทำให้การแสดงออกในพิธีบูชาเสาอินทขีลมีลักษณะของพิธีกรรมทางพุทธศาสนามากกว่า ส่วนความเชื่อดั้งเดิมซึ่งถือว่าเป็นรากเหง้าของพิธีนั้น บางส่วนได้ถูกพุทธศาสนาเข้าไปสวมทับในเชิงความหมาย แต่บางส่วนยังคงมีความสำคัญและได้รับการสืบทอดมาในสังคมปัจจุบัน

 

 

(เสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ "พลังและพลวัตวัฒนธรรมล้านนา" วันที่ 30 มกราคม 2558 ณ โรงแรมเวียงลคอร จังหวัดลำปาง จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง)